เมื่อพวกอำมาตย์และเครือข่ายของเขา พยายามเบี่ยงเบนประเด็น ความขัดแย้งในสังคมที่ประชาชนจำนวนมากต้องการประชาธิปไตย และความอยู่ดีกินดีจากนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตย ด้วยการยัดเยียดแนวคิดชาตินิยม ภายใต้ สโลแกน “สร้างความสามัคคีของชาติ” ผ่านกิจกรรมการร้องเพลงชาติ 76 จังหวัด การออกโฆษณาตรงๆ ผ่านสื่อ หรือโฆษณาแฝง ตามรายงานต่างๆ ถึงขั้นรุนแรงแบบที่พวกพันธมิตรฟาสซิสม์ ทำที่ปราสาทพระวิหาร สิ่งที่พวกอำมาตย์กำลังพยายาม คือ การครองใจในทางความคิด (hegemony) ของคนในสังคมผ่าน แนวคิดชาตินิยม
แนวคิดชาตินิยม เป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ปกครอง มาอย่างยาวนาน เพื่อใช้สำหรับเบี่ยงเบนประเด็นหรือลดกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นของคนจนในสังคม เพราะเวลาประชาชนออกมาสู้นั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมือง หรือไม่ก็เรียกร้องความอยู่ดีกินของปากท้อง ซึ่งข้อเรียกร้องแบบนี้ไปลดทอนอำนาจของพวกชนชั้นนำในสังคมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปัจจุบัน ที่แนวคิดชาตินิยม ที่พูดถึงความสามัคคีของคนในชาติ แลกทะเลาะกันให้คิดประเทศชาติเป็น หรือไม่ก็ไม่ว่าเราจะสีอะไรก็เป็นคนไทยเหมือน หรือหันมาร่วมกันพัฒนาประเทศชาติกันดีกว่า ข้อความต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนกรอบคิดของชาตินิยมทั้งสิ้น โดยเฉพาะแนวคิดชาตินิยมที่ถูกใช้โดยชนชั้นผู้ปกครอง
เราจึงจะเห็นว่าเวลาพวกเขาพูดถึงความสามัคคีในชาติ ก็เท่ากับเป็นการแช่แข็ง สาเหตุของความขัดแย้งแต่แรกของสังคม ไม่ต้องพูดการรัฐประหาร ความยากจน การถูกเลิกจ้าง คนที่จนก็ต้องจนต่อไป ส่วนคนรวยก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อสังคม เสพสุขในความร่ำรวยของตนเองต่อไป มันจึงถูกพิสูจน์ได้ชัดเจน ว่าผู้ที่เสนอแนวคิดเช่นนี้ ล้วนทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอำนาจของตนเองเพียงเท่านั้น
แนวคิดชาตินิยม จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของพวกผู้ปกครองในการ “ครองใจ ในทางความคิด” ของคนในสังคม นอกเหนือจากเครื่องที่ใช้ปราบปรามประชาชน เช่น กองทัพ คุก ศาล ทหาร ตำรวจ หรือที่เรียกว่าอำนาจรัฐ
อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยม ชาวอิตาลี(1891-1937) จึงได้เสนอว่านอกจากเราต้องทำ “สงครามขับเคลื่อน” คือการเคลื่อนไหวกดดันด้วยรูปแบบต่างๆ ที่เราพยายามทำกันอยู่แล้ว เรายังจำเป็นต้องทำ “สงครามจุดยืน” เพื่อต่อสู้การผู้ขาดทางความคิดของพวกอำมาตย์ ซึ่งรูปธรรมคือ เราต้องเน้นแนวคิดสากลนิยม เพื่อคัดค้านแนวชาตินิยม สนับสนุนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย คัดค้านการส่งทหารลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ควรเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินอนาคตตนเอง เราต้องตั้งคำถามแต่แรกว่าพรมแดนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไม่ต้องมีภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยพูดกันหลายภาษา เรามีรูปแบบครอบครัวอื่นๆ ได้อีกหรือไม่ ที่ไม่ใช่ครอบครัวเดียวแบบปัจจุบัน และเราต้องพยายามพูดคุยกันถึงสังคมใหม่ สังคมในฝันของผู้รักประชาธิปไตย ว่ามีหน้าตาอย่างไรกันบ้าง มีระบบเศรษฐกิจแบบใด ระบบขนส่งมวลชนเป็นอย่างไร ระบบการศึกษาเป็นอย่างไร ระบบการปกครองทั้งระดับประเทศและระท้องถิ่นเป็นอย่างไร ระบบสวัสดิการอื่นๆ เป็นอย่างไร และนำออกมาเสนออย่างเป็นรูปธรรม ต่อคนในสังคม เพื่อแข่งแนวกับพวกอำมาตย์ที่ต้องการแช่แข็ง ความยากจน ความไร้สิทธิเสรีภาพ ของพวกเราไว้
ดู อันโตนิโอ กรัมชี่ ใน หนังสืออะไรนะลัทธิมาร์ค เล่ม 2 สำนักพิมพ์ ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน(องค์กรเลี้ยวซ้าย)