7/11/50

ความเห็นต่าง ในความไม่เท่าเทียม

วัฒนะ วรรณ

ผมตกงานมาได้เกือบหนึ่งเดือนแล้ว คือไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 50 วันที่ 31 ตุลา นี้ ก็จะครบหนึ่งเดือนพอดี มันเป็นเวลาพอสมควรที่อยากจะเล่าเรื่องราวระยะเวลาหนึ่งเดือน ของคนไม่มีงานทำให้ฟังเผื่อว่า จะเป็นประโยชน์บ้างกับมิตรสหาย

เริ่มแรกที่รู้ว่าทางองค์กรเอ็นจีโอที่ผมทำงานเลิกจ้างผม วูบแรก อารมณ์ สับสน มึนงง ตกใจ ก็ประเดประดัง เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว การทำตัวให้หน้าสงสารต่อหน้าเจ้านายคงไม่ใช่ทางออกที่ดี สำหรับผม ก็คงต้องฝืนยิ้มรับชะตากรรมไป แต่มันก็ไม่เลวร้ายมากนัก เมื่อองค์กรจะจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฏหมายให้

องค์กรให้เหตุผลกับผมว่าต้องการปรับองค์กรในปีหน้า แต่ทุกคนคงรู้ว่าเหตุผลนี้เป็นเพียงภาษาทางการทูตที่ฟังแล้วไม่รุนแรงเกินไปเท่านั้น แต่ปัญหาจริงมันก็มาจากความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเสน่อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม แต่มันก็ถูกพิสูจน์มาตลอดว่าในบริษัทเอกชนจะมีเสน่ตรงนี้น้อย ถ้าความเห็นที่แตกต่างไปกระทบกับผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมันเกิดในองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรที่ให้นิยามกับตนเองว่าทำงานเพื่อสังคม

แน่นอน ! ความเห็นต่างเป็นเรื่องดีในความหลากหลายของมนุษย์ แต่ทำไมเมื่อเห็นต่างแล้วคนคนหนึ่งถึงมีอำนาจที่จะสั่งให้คนอีกคนหนึ่งเดินออกจากองค์กร ในฐานะผู้กระทำผิด มันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยมันยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน แม้ในองค์กรที่ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าอย่างองค์กรพัฒนาเอกชน กรณีผมเป็นเพียงแค่ตัวอย่างในอีกหลายๆองค์กร ว่าประชาธิปไตยไม่มีจริง

ผมโชคดีมากที่เพื่อนที่รู้จักไม่บอกกับผมว่า “ก็มึงมันหัวแข็งเกินไป” หรือ “มึงต้องรู้จักประณีประนอมบ้าง” เพราะคำพูดเหล่านี้มันเป็นการโยนความผิดให้กับผู้ถูกกระทำ แทนที่จะโยนคำถามไปที่เจ้านายว่า “ทำไมถึงต้องไล่ออก” เพราะบ่อยครั้งในสังคมไทย ผู้ถูกกระทำมักจะเป็นผู้ผิด เหมือนกรณีหนึ่งที่ผมพอจำได้เกี่ยวกับการแต่งชุดของนักศึกษาที่เซ็กซี แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้กลับบอกว่ามันจะนำไปสู่การเสียตัว การถูกข่มขืน ทั้งๆที่ความผิดมันไม่ได้อยู่ที่ผู้ถูกข่มขืน แต่ผู้ที่ข่มขืนต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ

เมื่อตกงานก็ต้องหางานทำ ผมสมัครงานไปกว่า 20 กว่าที่ ทั้งบริษัทเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งสมัครก็ยิ่งท้อ ยิ่งเวลาผ่านไปเงินที่สะสมไว้ก็เริ่มหร่อยหล่อลงทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอกนะ เพราะยังมีเพื่อนๆอีกหลายคนที่ไปพบเจอกันในการสัมภาษณ์งานหลายๆแห่ง ก็ล้วนไม่มีงานทำอย่างผม เป็นลูกคนชั้นล่าง ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร นอกจากกำลังแรงงาน หลายคนตกงานมาหลายเดือนแล้ว หลายคนพึ่งจบมาแต่ก็ยังหางานไม่ได้ บางคนก็เดินทางมาไกลถึงเชียงใหม่ บางคนก็มาจากอุดรธานี ใบหน้าขอแต่ละคนนั้นไม่ต่างกัน ความสดใสในแววตาไม่มีให้เห็นแน่นอน ถึงแม้บ้างคนจะแสดงการทักทายเพื่อนใหม่ด้วยรอยยิ้ม แต่ในแววตาแล้วมันดูเศร้าเกินไป ไม่เหมาะกับใบหน้าที่เขาและเธอกำลังแสดงออกสู่ชายแปลกหน้าอย่างผม

ผมไม่รู้ว่าจริงๆแล้วพวกเขาต้องการทำงานประเภทใหนกัน เพราะคำบอกเล่าว่าถ้าไม่ได้ที่นี่ก็จะไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งแต่ละที่ก็เป็นงานที่แตกต่างกัน หรือเพียงเพราะว่าที่ที่พวกเขาเดินทางไปมันพร้อมจะเปิดรับเขาเข้าทำงาน เขาก็แค่เลือกงานเหล่านั้น มิใช่เลือกจากสิ่งที่พวกเขาต้องการ แล้วความสุขมันอยู่ตรงใหนในการทำงาน

ยิ่งเขียนก็ยิ่งงง ไม่สามารถหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ พรุ่งนี้ก็คงตื่นมาหางานทำเหมือนเดิม ก็หวังว่าทุกคนร่วมทั้งผมด้วยจะได้งาน และมีเงินไปหาความสุขนอกสถานที่ทำงาน

เสียงของชาวพม่าจากแดนไกลต่อปัญหาที่บ้านเกิด: “เราทนไม่ไหวแล้ว เราไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว”

เที่ยงวันอาทิตย์ วันที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า “วันครอบครัว” เพราะเป็นวันที่คนส่วนใหญ่ในครอบครัวจะหยุดพร้อมกัน บางก็ใช้วันนี้ทำกิจกรรมกันที่บ้าน บางก็เลือกออกมาข้างนอก เดินห้างจับจ่ายใช้สอย ดูหนัง ฟังเพลง แล้วแต่รสนิยมของใครของมัน

แต่สำหรับผมต้องเดินทางมาย่านใจกลางเมืองตามคำแนะนำแกมบังคับจากเพื่อน ให้มาพูดคุยซักถามเพื่อนชาวพม่า ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าขณะนี้ว่าพวกเขามีความคิดความรู้สึกกันอย่างไรบ้าง

ผมได้นัดเพื่อนชาวพม่าไว้สองคน ก่อนที่เราจะคุยกันเพื่อนชาวพม่า พวกเขาขอไม่ให้ผมถ่ายรูปและขอไม่ใช้ชื่อจริง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของพวกเขา ทั้งนี้พวกเขาคงไม่ได้กังวลว่ารัฐบาลทหารพม่าจะมาทำร้ายเขาในเมืองไทย แต่คงกังวลเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากกว่า ถึงแม้พวกเขาจะมีบัตรถูกต้องแต่ด้วยความที่เป็นพลเมืองชั้นล่างสุดในประเทศไทย ย่อมเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคนได้

0 0 0

จูไล เม หญิงสาวผู้จากบ้านมาเพื่อต้องการเห็นความเจริญในประเทศไทย เธอออกจากบ้านที่รัฐกระเหรี่ยง ในประเทศพม่า เมื่อปี 2545 ตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 16 ปี และกำลังจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยพี่ชายและพี่สาวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยต้องการคนมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เธอจึงต้องสละโอกาสทางการศึกษาและมุ่งหน้ามาสู่ประเทศไทยแทนพี่ชายคนกลางของเธอ

“พี่ชายคนกลางของฉันปฏิเสธที่จะมาเมืองไทย ตามที่พี่สาวและพี่ชายของฉันทำงานอยู่ที่เมืองไทยต้องการ ฉันเลยต้องมาแทนเขา”

“แต่ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดอะไร เมื่อพี่ชายไม่มาฉันก็อาสามาเอง และตอนนั้นฉันก็ไม่รู้สึกว่าที่บ้านเดือดร้อนด้วย เพราะแม่เป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนมัธยม และพ่อก็เป็นอาจารย์ในโรงเรียนเดียวกัน ในเมืองหลวงของรัฐกระเหรี่ยง แต่ที่ฉันตัดสินใจมาก็เพราะว่าอยากมาเมืองไทย เพราะรู้ว่าประเทศไทยเจริญกว่าในพม่ามาก อยากมาเห็น ก็คงเป็นความคิดธรรมดาของเด็กอายุ 16 ในตอนนั้น เพราะฉันไม่ค่อยรู้อะไรมาก แค่อยากมาเห็นประเทศไทย และก็คิดว่าจะอยู่ไม่นาน เก็บเงินได้ก็จะกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อในพม่า”

ถึงแม้ว่าจูไล เม จะยืนยันว่าการที่เขาเข้ามาในประเทศไม่ไช่เหตุผลเพราะที่บ้านในพม่ามีความลำบากเรื่องเศรษฐกิจ ตามความรู้สึกที่เขารับรู้ตอนนั้น เมื่อเทียบกับคนอื่นๆที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย เพราะครอบครัวของเขาในพม่าก็ถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีอาชีพที่ดีพอสมควร คือเป็นอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมในเมืองหลวงของรัฐกระเหรี่ยง

แต่ก็น่าคิดว่าพี่ชายกับพี่สาวสองคนที่เดินทางมาทำงานก่อนหน้า จูไล มาด้วยเหตุผลอะไร และทำไมเมื่อต้องการให้น้องชายต้องเดินทางมาประเทศไทยเพื่อช่วยกันทำงานด้วย แต่นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่าไรเมื่อเธอเข้ามาในประเทศไทยแล้ว

“ฉันเข้ามาแบบสบายมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ เพราะนั่งรถเข้ามาถึงกรุงเทพเลย พี่สาวกับพี่ชายก็ช่วยติดต่อให้ทั้งหมด ทั้งเรื่องการเดินทาง เรื่องงาน ร่วมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินทาง”

แต่การเข้ามาแบบสบาย ใช่ว่า จูไล เม จะสามารถหลีกหนีชะตากรรมที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทยเผชิญไปได้ นั่นก็คือความไม่มั่นคงในชีวิต

“เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้ทำงานเลย คือทำงานในร้านขายเค้ก แถวสุขุมวิท ได้เงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท แต่ก็ทำได้แค่เดือนเดียวก็ออก เพราะไม่เคยทำงานมาก่อน อยู่พม่าเรียนจบ ม.6 ก็มาเมืองไทยเลย อีกอย่างภาษาก็ไม่ได้ คุยกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง”

“เมื่อออกจากร้านเค้ก ก็ไปทำงานเป็นแม่บ้าน ได้เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกัน งานที่ทำก็ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน เลี้ยงเด็ก ก็ทำเกือบทุกอย่างในบ้าน บ้านที่ทำอยู่แถวดอนเมือง ทำได้ 1 ปี แล้วก็ลาออก เพราะงานที่ทำมันอยู่ไกลญาติๆ ก็เลยย้ายมาอยู่แถวศรีนครินทร์ ก็มาทำงานบ้านเหมือนกัน แล้วก็ได้เงินเพิ่มเป็นเดือนละ 4,000 บาท งานที่ทำก็เหมือนที่เดิม”

เธอสามารถทำงานเก็บเงินทองได้จำนวนหนึ่ง และหวังที่จะกลับนำทุนทรัพย์ที่หาด้วยน้ำพักน้ำแรงนี้กลับไปสานฝันทางการศึกษาของเธอ การเรียนต่อในมหาวิทยาลัย --- แต่เมื่อกลับบ้าน เธอกลับเจออีกปัญหาอีกครั้ง ทำให้เธออยู่ที่บ้านเกิดได้ไม่นานนัก

“เมื่อปี 2548 ก็กลับพม่า ตอนนั้นคิดว่าจะไม่กลับมาที่เมืองไทยแล้ว เก็บเงินได้ 30,000 บาท ตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็กลับไปได้แค่เดือนเดียว ก็ต้องกลับมาเมืองไทยอีก เพราะที่บ้านแม่ติดการพนันเป็นหนี้เต็มไปหมด และตอนนี้ทำงานร้านค้าได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท แต่ก็ต้องทำงานบ้านด้วย แต่งานก็ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน และวันอาทิตย์ก็ได้มาเรียน ได้เจอเพื่อนด้วย”

และเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการมาอยู่เมืองไทยนานๆ

“เมื่อ 3 ปีก่อน ฉันคิดถึงบ้านมากๆ นอนร้องไห้บ่อยๆ อยากกลับบ้าน แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกแบบนั้นแล้วเพราะเริ่มชิน แต่ก็ยังอยากกลับไปอยู่บ้านอยู่ดี ถ้าเก็บเงินได้ก็จะกลับไปทำงานที่บ้าน ทำอะไรก็ได้”

ความคิดที่จะกลับไปที่บ้าน ใช้ชีวิตแบบปกติสุขที่บ้านเกิดเมืองนอนของ จูไล คงจะไม่ง่ายนักสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แย่ในพม่า หลังจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิง 5 เท่า ทำให้พระสงฆ์และประชาชนต้องออกมาประท้วงและก็กำลังถูกปราบปรามโดยทหารพม่าและกองกำลังอันธพาลที่ถูกจัดตั้งโดยทหารอย่างหนัก

“ตอนนี้ฉันก็ได้ติดตามข่าวบ้าง จากเพื่อนๆ บ้าง จากอินเตอร์เน็ตบ้าง เพื่อนก็คุยกัน ก่อนหน้านี้พวกเราก็ไม่ค่อยรู้อะไรเลย ตอนอยู่พม่าก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารเขาไม่ให้เรารู้อะไร แต่พอมาอยู่เมืองไทยก็ได้รู้มากขึ้น และตอนนี้เราก็สนใจมากขึ้น เพื่อนเกือบทั้งหมดก็สนใจเรื่องในพม่า”

“คนพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เข้ามาด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ส่วนมากเข้ามาก็เพราะที่บ้านลำบากมาก เมื่อตอนนี้เรารู้ว่าในพม่าเกิดอะไรขึ้น พวกเราก็แค้นมากๆ รัฐบาลไม่สนใจเราเลย ประชาชนเดือดร้อนแล้วก็ออกมาเดินขบวน แต่พวกเขาก็จะจับประชาชน พระสงฆ์เขาก็จับ ประชาชนออกมาเดินขบวนก็เพราะว่าอยากให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น”

“แต่พอรู้ว่าทหารจับคนเดินขบวนและมีคนตายด้วย พวกเราที่คุยกันก็แค้น ว่าทำไมรัฐบาลเป็นอย่างนี้ ทำไมใจร้ายอย่างนี้ แล้วตอนนี้ฉันอยากจะมีส่วนในการประท้วงด้วย อยากเขาไปร่วมต่อสู้ในพม่า ไปเดินประท้วงเพื่อบอกรัฐบาลว่าเราทนไม่ไหวแล้วเราไม่มีอะไรต้องกลัวอีก เพราะประชาชนลำบากมากๆ มากจนไม่กลัวแล้ว เราลำบากมากแล้ว รัฐบาลไม่เคยทำอะไรให้ดีขึ้นเลย”

0 0 0

นาน เว ชายหนุ่มร่างเล็กจากรัฐฉาน เขาต้องออกจากโรงเรียนตอนมัธยมเพื่อมาช่วยครอบครัวทำงาน ด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นพี่ชายคนโต

“ผมต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านทำงาน บ้านผมทำนาแต่ก็ไม่ค่อยดี รายได้ไม่พอกิน แต่ทำงานในพม่าก็ไม่พอกิน ก็เลยต้องเข้ามาทำงานในเมืองไทย ที่บ้านไม่ได้บังคับให้มาเมืองไทยหรือต้องส่งเงินกลับบ้าน ผมอาสามาเอง อยากรู้ด้วยว่าเมืองไทยต่างจากที่บ้านยังไง”

ตอนที่มาเมืองไทย นาน เว อายุประมาณ 23 ปี โดยเขามีญาติที่อยู่เมืองไทยหางานไว้ให้แล้ว แต่เนื่องด้วยปัญหาบางอย่างทำให้เขาต้องเดินทางมาช้ากว่ากำหนด พร้อมทั้งเสียงานแรกไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ

“ญาติหางานให้ผมแล้ว แต่ผมมาช้าไป เลยต้องหางานใหม่ ได้งานที่โรงงานทำขวดน้ำ”

การทำงานที่โรงทำขวดน้ำ นาน เว ได้ค่าแรงเป็นเป็นรายวัน วันละ 170 บาท โดยมีพักที่โรงงานให้ แต่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 50 บาท และห้องหนึ่งสำหรับพักผ่อนของพวกเขาต้องอยู่รวมกันถึง 6 คน ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ คับแคบ และอีกปัญหาที่ นาน เว ต้องเจอก็คือ งานในโรงงานมักไม่ค่อยมีทำ ซึ่งทำให้รายได้เขาลดลงไปด้วย

“ที่นี่ไม่ค่อยมีงาน บางครั้งอาทิตย์นึงต้องหยุด 3-4 วัน งานมันน้อย ถ้าไม่มีงาน ก็ไม่ได้เงิน แต่เถ้าแก่ก็จะให้เงินบ้างไว้ซื้อข้าวกิน”

นาน เว อดทนอยู่กับสภาพนั้นได้ไม่นานนัก ก็จึงต้องเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ซึ่งนาน เว ได้ไปทำงานที่ร้านทำน้ำพริก โดยพี่ชายของเขาชวนให้ไปทำด้วยกัน ที่นี่นานเวได้ทำงานทุกวัน แต่ก็เป็นงานที่หนักหนาอยู่สมควรเหมือนกัน

“ที่นี่มีงานทุกวัน ได้ค่าจ้างวันละ 190 บาท แต่ต้องตื่นตอนตี 1 เลิกงานก็ประมาณ 3 โมงเย็น”

สำหรับประเด็นเรื่องการกลับบ้าน นาน เว คำตอบของ นาน เว ให้ความเห็นไว้ว่า

“ผมอยากกลับบ้านมากๆ คิดถึงบ้าน มาอยู่ที่นี่เกือบ 4 ปีแล้ว ถ้าได้กลับบ้านก็จะไม่มาอีก อยู่ที่นี่ถ้ามีบัตรก็อยู่ได้สบายใจ แต่ถ้าไม่มีบัตรก็ต้องหลบๆซ่อนๆ ไปไหนมาไหนก็ลำบาก ตอนนี้อยู่ที่นี่ยังดีอยู่ จะเก็บเงินสักก้อน ถ้าไม่ดีแล้วก็จะกลับบ้าน กลับไปทำงานที่บ้าน อาจจะเปิดร้านขายของเล็กๆ แต่น้องชายผมเขาอยากมาเมืองไทย แต่ผมไม่อยากให้มา ตอนนี้เขาก็ยังเรียนอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อยากให้มาอยู่ดี เพราะอยู่ที่นี่มันลำบาก เดินทางก็ลำบาก ทำงานก็ลำบาก”

รวมถึงเรื่องประเด็นความขัดแย้งในพม่า นาน เว ได้ให้ความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนพลัดถิ่นทั้งหลาย

“ผมไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวจากสื่อ แต่จะมีเพื่อนๆโทรมาบอกต่อๆกัน เมื่อพวกเรารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นตอนนี้ มันน่าเศร้ามากๆ มันเจ็บปวด ประชาชนออกมาประท้วงอย่างจริงใจ แต่รัฐบาลทำอย่างนี้มันเศร้ามาก มันน่าเจ็บใจ เมื่อเทียบกับประเทศไทย เมื่อประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรประชาชน ประชาชนพม่าออกมาประท้วงก็ต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตอนนี้ในพม่า คนรวยเขาเอาเงินมาลงทุน ทำงานนิดเดียวแต่ได้เงินเยอะ สำหรับคนจนทำงานเท่าไรก็ไม่พอกิน ถ้าผมอยู่ในพม่าผมก็จะออกไปประท้วงด้วย ผมรู้ว่ามีการจับโดยทหาร แต่ผมก็ไม่กลัว เพื่อนๆก็ไม่กลัว”

0 0 0

... การเดินทางของพวกเขา อาจจะมีรายเอียดในการเริ่มต้นและจุดจบที่แตกต่างกันบ้าง แต่สำหรับเป้าหมายใหญ่แล้วพวกเขามีความต้องการชีวิตที่ปกติสุขเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ

พม่า : ในสถานการณ์ปฏิวัติประชาชน


วัฒนะ วรรณ

พม่า ประเทศเทศที่ถูกปกครองโดยระบบทหารมาตลอด และถือว่าเป็นเผด็จการทหารที่ล้าหลังมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยสนใจประชาชนพม่าเลยแม้แต่น้อย มีการทารุณจับกุม กักขัง ประชาชนและนักกิจกรรมทางด้านสังคม การเมือง อยู่เป็นประจำ จนถึงปัจจุบัน

พม่ามีการเจรจากับอังกฤษเพื่อการประกาศเอกราชในระหว่างปี 1947-48 นำโดยนายพลอองซาน แต่ในระหว่างนั้นนายพลอองซาน ก็ถูกสังหารเมื่อเดือน ก.ค. ปี 1947 โดยพม่าได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกใช้ในปี 1948

การเมืองพม่าหลังจากปี 48 บรรยากาศการเมืองก็ค่อยข้างมีเสรีภาพพอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันบ้างระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆในพม่า แต่เมื่อปี 1962 บรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองของพม่าก็ถูกแช่แข็งโดยการรัฐประหารที่นำโดย นายพลเนวิน เรื่อยมา

เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประชาชนถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในปีช่วงปี 1988 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศยกเลิกเงินจั๊ด ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ประชาชนพม่าใช้ ส่งผลให้ประชาชนที่ถือเงินจั๊ดตอนนั้นไม่สามารถใช้เงินจั๊ดในการใช้จ่ายได้ ทำให้ประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าในตอนนั้น นำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารขนาดใหญ่ ซึ่งนำโดยนักศึกษาและพระสงฆ์ และสหภาพแรงงาน และตอนหลังก็มีข้าราชการ ตำรวจและทหารชั้นผู้น้อยเข้าร่วมด้วย

การต่อสู้ในครั้งนั้นของประชาชนพม่า ประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เพราะมีการปราบปรามโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามพันคน นักเคลื่อนไหวในครั้งนั้นต้องหนีออกนอกประเทศ หรือบางกลุ่มต้องเข้าป่าไปจับอาวุธร่วมกับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน แต่หลังจากการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่รัฐบาลทหารก็ประกาศให้มีการเลือกครั้งในปี 1990 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่คณะทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นับว่าเป็นการปิดประตูสำหรับประชาธิปไตยในพม่า จนมาถึงปัจจุบัน

การต่อสู้รอบใหม่ของประชาชนพม่า

หลังจากปี 88 จนถึงมีการเลือกตั้งปี 90 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งบรรยากาศของเสรีภาพ และประชาธิปไตยในพม่าก็อยู่ในสภาวะมืดมิดแทบจะไม่มีใครคาดการณ์จะเห็นแสงสว่างในระยะอันใกล้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์เล็กๆเกิดขึ้นในประเทศ คือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 49 นักศึกษาของวิทยาลัยเมียนชาน ในภาคกลางพม่าได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเพราะไม่พอใจที่เจ้าหน้าใช้กฎไม่จำเป็นควบคุมเข้มงวดจนเกินไป การชุมนุมในครั้งนั้นส่งผลให้มีนักศึกษาถูกไล่ออกประมาณ 200 คน ทั้งนี้ เหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาในพม่าในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งที่วิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ฉ่วยปีต่า ในกรุงย่างกุ้ง

อีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือคลิปวีดีโอการแต่งงานของบุตรสาวของนายพลต่าน ฉ่วย ที่ถูกเผยแพร่ในพม่าได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนพม่าเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยประชาชนพม่าได้รับความลำบากมากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี โดยนางธันดาฉ่วย หรือ มะป้อค ได้สมรสกับพันตรีส่อเพียววิน ลูกน้องคนสนิทของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย ที่เมืองหลวงแห่งใหม่และในกรุงย่างกุ้ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงานพิธีวิวาห์ของทั้งสองได้ใช้เม็ดเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และมีแขกผู้มีเกียติของรัฐบาลเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ส่วนทางด้านนางธันดาฉ่วย ได้กล่าวระหว่างพิธีวิวาห์ของตนต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติว่า ได้รับของขวัญจากแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานรวมมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วย บ้าน รถยนต์ และเครื่องประดับชนิดต่างๆ

การต่อสู้รอบใหม่ภายใต้การใช้ศาสนานำการต่อสู้

วันที่ 29 ต.ค. 49 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในพม่า ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น คือ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนพม่า โดยการแต่งชุดขาวจัดภาวนาในทุกศาสนาเพื่อรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางเมืองในประเทศอย่างสันติ เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และอุทิศส่วนกุศลให้แก่เหยื่อน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งน้ำท่วมในครั้งนั้นรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเลย

การจัดกิจกรรมในครั้งนั้นได้รับการประสานงานโดยกลุ่มอดีตนักศึกษาสมัยปี 88 โดยรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มนักศึกษารุ่นปี 88” การจัดภาวนาครั้งนี้จัดขึ้นในศาสนสถานหลายแห่งทั่วประเทศ โดยมีจุดใหญ่ที่เจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง ซึ่งมีคนเข้าร่วมนับพันคน แต่งกายในชุดขาว พร้อมนำเทียนไขจุดภาวนา

กิจกรรมการภาวนาในครั้งนั้นเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการล่ารายชื่อประชาชนพม่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีมากกว่า 1,100 คน โดยการล่ารายชื่อในครั้งนี้มีผู้ร่วมลงรายชื่อมากถึง 535,580 คน ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองในครั้งนั้น ผู้นำในการจัดงานสองคนได้ถูกจับกุม คือ โก เว โก่(Ko Win Ko) กับ ชู ส่อ ลัต (Phyo Saw Latt) แต่เป็นการจับกุมในข้อหาหวยเถื่อน ซึ่งถูกจำคุก 3 ปี และถูกเพิ่มโทษอีก เป็น 14 ปี จำคุกอยู่ที่เมืองตองอู

การต่อสู้ระลอกใหม่เริ่มต้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศขึ้นราคาน้ำมันรวดเดียว 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ทับถมความยากลำบากของประชาชนพม่าให้เพิ่มขึ้นไปอีก จึงเกิดการเดินขบวนชุมนุมประท้วงขึ้น จากคนไม่กี่ร้อยคน ที่นำโดยอดีตผู้นำนักศึกษา ปี 1988 แต่ตลอดการเดินขบวนมีประชาชนออกมาสนับสนุนปรมมือให้กำลังใจหลายพันคน หลังจากการเดินขบวนก็เริ่มกระจายไปตามเมืองต่างๆ และก็เริ่มมีพระสงฆ์ออกมาประท้วงตามเมืองต่างๆมากขึ้น จนถึงปัจจุบันที่มีประชาชนออกมามากกว่าหนึ่งแสนคนและพระสงฆ์หลายหมื่นรูป ซึ่งเป็นแกนนำ

พระสงฆ์ในพม่ามีประมาณ 6 แสนรูป และส่วนใหญ่เป็นพระรุ่นหนุ่ม และก็ยังมีสามเณรอีกจำนวนหนึ่ง การที่พม่ามีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากน่าจะมาจากระบบการศึกษาในประเทศพม่าทั้งหมดถูกจำกัดไว้สำหรับข้าราชการระดับสูงในพม่าเท่านั้น คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ได้เรียนหนังสือเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การบวชเพื่อจะเรียนหนังสือจึงเป็นหนทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประชาชนพม่า

องค์กรสงฆ์ในพม่าเป็นองค์กรเดียวที่รัฐบาลทหาร เข้าไปแทรกแซงค่อนข้างลำบากเพราะว่าศาสนาพุทธมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากต่อประชาชนพม่า ดูได้จากตัวอย่างแรกๆที่ทหารพม่าไม่กล้าที่จะจับกุมพระสงฆ์ และหลังจากมีกรณีทำร้ายพระสงฆ์ในการเดินประท้วงและเกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ รัฐบาลทหารพม่าก็พยายามแสดงออกว่าให้การเคารพโดยการเดินสายทำบุญในวัดต่างๆหลายแห่ง

หนทางข้างหน้าในการต่อสู้

ขณะนี้หลายฝ่ายต่างวิตกกันว่า รัฐบาลทหารจะใช้กำลังเข้าปราบปรามขบวนการประท้วงมีเช่นในปี 1988 จึงเริ่มมีการกดดันรัฐบาลทหารพม่าผ่านทาง สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา หรือรวมถึงประเทศจีน ให้ช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพื่อให้เกิดการเจรจา และจะไม่นำไปสู่การปราบปราม กลุ่มที่ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลทหาร ก็คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD โดย ในแถลงการณ์ระบุว่า "ความคาดหวังของประชาชนที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงจะดำรงอยู่ได้ หากเราร่วมมือกันสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดเจรจา"

แน่นอนถ้าเกิดมีการเจรจาเกิดขึ้น ทหารก็ยังมีบทบาทอยู่ การเมืองพม่าก็คงไม่เปลี่ยนไปมากนัก เพราะในอดีตที่ผ่านมามีบทเรียนสำคัญหลายครั้งที่ทหารหักหลังประชาชน เช่น ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งที่จัดโดยทหาร แต่ทหารก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และอีกครั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญที่คณะทหารได้มีการแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าไม่สนใจฝ่ายที่เห็นแตกต่างจากทหาร

แล้วทำอย่างไรขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในพม่าจะชนะและมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นี่คงเป็นคำถามสำคัญที่มีอยู่ตอนนี้ การที่พม่าจะมีประชาธิปไตยได้ ต้องกำจัดทหารมิให้มีอำนาจอีกต่อไป นั่นแสดงว่าการต่อสู้รอบนี้เป้าหมายต้องชัดเจนว่าต้องการโค่นล้มรัฐบาลทหาร มิใช่การเจรจา แต่การต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวและดุเดือดเท่านั้นที่ประชาชนในพม่าจะได้รับชัยชนะ แน่นอนเรามิได้ปรารถนาความรุนแรง แต่เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อปกป้องตนเองจากความรุนแรง และการป้องกันมิให้ทหารใช้ความโดยการดึงทหารชั้นผู้น้อยมาเป็นพวก ซึ่งการดึงทหารชั้นผู้น้อยมาเป็นพวกเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1988 ที่มีทหารชั้นผู้น้อยปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บัญชาการที่ให้พวกเขาไปปราบประชาชน และเข้าร่วมกับประชาชน

สุดท้ายเราหวังว่าประชาชนไทยที่รักประชาธิปไตยจะยืนเคียงข้างประชาชนพม่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร เราต้องร่วมกันออกมารณรงค์สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนพม่าในครั้งนี้

สื่อเสรี เสรีภาพสื่อ เสรีภาพของใคร

วัฒนะ วรรณ

จากข่าวคราวของไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทีไอทีวี(ซึ่งไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรในการเปลี่ยน) ที่ปรากฎบนพื้นที่สื่อต่างๆ ได้สร้างความสนใจต่อสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงมีข้อเสนอต่างๆมากมายเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะมีสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆสักที

ที่มาที่ไปของสื่อสาธารณะ สื่อเสรี สื่ออิสระ ก็คงมาจากเหตุการณ์พฤษภา ปี 35 ซึ่งขณะนั้นสื่อส่วนใหญ่ถูกมองว่าไม่สามารถเสนอข่าวที่ถูกต้องให้กับประชาชนได้ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่มีสโลแกนว่า “สื่อเสรี” และหลักการเบื้องต้นก็คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ปราศจากการควบคุมโดยรัฐ คำตอบคือการทำให้เป็นของเอกชนและพยายามไม่ให้เอกชนรายหนึ่งรายใดผูกขาดความเป็นเจ้าของสื่อใหม่นี้ โดยกำหนดสัดส่วนว่าไม่ให้เอกชนรายใดถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งเอาเข้าจริงๆผู้ที่ควบคุมทิศทางข่าวก็อยู่ในมือของผู้บริหารกลุ่มทุน จนนำไปสู่นิสัยเดิมๆของกลุ่มทุนที่เข้ามาผูกขาดอย่างที่เราๆท่านๆเข้าใจกัน ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดสื่อที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะจริงๆต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ความอิสระ และสื่อเสรี
เวลาที่เราจะพิจารณาความมีอิสระเราต้องพิจารณาจากรูปธรรมว่าจริงๆแล้วความอิสระมีจริงรึเปล่า คำว่า “อิสระ” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นผลพ่วงมาจากเหตุการณ์พฤษภาเช่นเดียวกัน ดังนั้นคำว่าอิสระจึงถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงขั้นฟุ่มเฟือย แต่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วความมีอิสระมันมีจริงหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างที่ปรากฎที่ผ่านมา องค์กรอิสระต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีความเป็นอิสระจริงๆดังที่คาดหวัง เพราะมันอิสระจากประชาชนโดยสิ้นเชิง กระบวนการต่างๆถูกออกแบบมาเพื่อมีคนกลุ่มเล็กๆทำแทนประชาชน ไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เพราะฉนั้นองค์กรเหล่านี้จึงไม่ต้องรับผิดชอบกับสังคมเช่นเดียวกัน แต่กลับรับผิดชอบกับกลุ่มอำนาจที่แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เข้าไปในองค์กรอิสระมากกว่า

ถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมหมายความว่าทุกคนทุกองค์กรต้องมีราก มีที่มา มันไม่มีความเป็นอิสระจริงๆ มันขึ้นอยู่ว่าคุณจะอิสระจากใคร และจะไม่อิสระจากใคร รากที่มาจึงมีความสำคัญ รวมถึงการบำรุงรักษา ตัดแต่งให้ปุ๋ยให้น้ำด้วย ที่ผ่านมารากไม่ได้มาจากประชาชนเพราะคำว่า “อิสระ”ที่ถูกใช้เรียกแทนความหมายขององค์กรต่างๆ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน รวมถึงการบำรุงรักษา ตัดแต่งให้ปุ๋ยให้น้ำ ยิ่งไม่ใช้บทบาทหน้าที่โดยตรงของประชาชนด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้นถ้าประชาชนไม่ต้องการ ก็ไม่สามารถถอนมันทิ้งไปได้ เราจึงสรุปได้ว่าองค์กรอิสระนั้น มีความอิสระจากประชาชนจริงๆ แต่จะไปใกล้ชิดกลับใครบ้าง ท่านทั้งหลายก็คงเห็นๆกันอยู่ คงไม่ต้องอธิบายมาก

เมื่อเรามาพิจารณาสื่อเสรี “ไอทีวี” มันจึงไม่มีความอิสระตั้งแต่แรก เพราะมันอยู่ในมือของกลุ่มทุนตั้งแต่ต้น ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้บ้างที่ผ่านมา ของพนักงานไอทีวีในเหตุการณ์ “กบถไอทีวี” แต่การต่อสู้โดยลำพังในครั้งนั้นก็ประสบกับความพ่ายแพ้ ซึ่งส่งผลให้การต่อสู้ไม่ปรากฎเกิดขึ้นอีกเลย จนมาถึงครั้งล่าสุดเมื่อมีการจะปิดการออกอากาศของไอทีวี

การต่อสู้ในยุค “กบถไอทีวี” เป็นการต่อเพื่อปากท้อง เพื่อความมั่นคง เพื่อวิถีชีวิต เพื่อสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่แตกต่างจากการต่อสู้ในครั้งนี้มากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก ที่คนธรรมดาที่ครั้งหนึ่งเคยพ่ายแพ้ แต่ก็สามารถกลับมายืนหยัดต่อสู้ได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับการต่อที่เรายกย่องความกล้าหาญของสหภาพแรงงานที่ออกมาปกป้องสวัสดิการของตนเอง เรายกย่องพี่น้องชนบทที่ปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิต และอีกหลายๆกรณี ที่คนธรรมดาออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งแน่นอนความก้าวหน้าของ “ไอทีวี” อาจจะไปไม่ไกลเกินเรื่องปากท้อง และทำให้หลายคนอาจจะแสดงความไม่พอใจ จนหลายคนอาจจะออกมาประนามเย้ยหยัน เมื่อ “ไอทีวี” ออกมาพูดถึงเป้าหมายของเขาว่าจะพยายามเป็น “สื่อเสรีเพื่อประโยชน์กับสาธารณะ” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราวิเคราะห์จากการทำงานที่ผ่านมา เราไม่อาจคาดหวังได้ว่ามันจะเป็นจริง เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ แต่การที่เรามาก่นด่าพนังงาน “ไอทีวี” นั้น มันเป็นเรื่องถูกต้องแล้วเหรอ ศรัตรูของเราคือ “กรรมกรข่าว” ใช่หรือไม่

เราต้องกลับมาทบทวนว่าแท้จริงแล้ว ศรัตรูตัวจริงของเราเป็นใคร พี่น้องกรรมกรคอปกขาว คอปกน้ำเงิน ชาวนา คนจน หรือว่าเป็นนายทุนและตัวแทนของพวกเขา และเราต้องพิจารณาอีกด้วยว่า อะไรที่ทำให้พี่น้องเราไม่กล้าออกมาต่อสู้ที่ผ่านมา อะไรที่ทำให้เขาขาดความมั่นใจ เราควรที่จะเห็นใจเขามากกว่าการประนาม เพราะการที่เราจะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในบริษัทโดยลำพังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีแรงกดดันมากมายที่เขาเผชิญอยู่ และเมื่อเขาออกมาสู้เราจะต้องสนับสนุนไม่ให้เขาต่อสู้เพียงลำพัง และช่วยพัฒนาการต่อสู้ให้ไปไกลเกินกว่าเรื่องปากท้อง เราต้องช่วยกันเรียกร้องกดดันให้สื่อทุกสาขา ทุกองค์กร มีสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความมั่นคงในการทำงาน และเพื่อปกป้องการถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุนและอำนาจรัฐ

ข้อเสนอการปฎิรูปสื่อ
การที่เราจะมีสื่อที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะได้ สื่อต้องอยู่ในมือประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ เราต้องมีสถาบันสื่อที่ถูกบริหารและควบคุมโดยประชาชน เราไม่ควรประณีประนอมเฉพาะแค่ทีวีช่องเดียว แต่เราจะต้องพยายามพูดถึงสื่ออื่นๆด้วย ไปพร้อมๆกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะไม่มีหลักประกันอันใด ว่าสื่อสาธารณะที่อยู่ในมือประชาชน จะเกิดขึ้นได้ในอำนาจของเผด็จการ ผู้บริหารจะต้องประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานของสื่อ ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ตามสัดส่วน ซึ่งจะต้องมีตัวแทนชาวนา 40 % กรรมกร 40 % และตัวแทนต้องถูกเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนตามสาขาอาชีพ ไม่ใช่ในขอบเขตของพื้นที่

สื่อต้องอิสระจากกลุ่มทุน เพราะฉนั้นจะต้องไม่มีโฆษณา รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณโดยเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องบริการประชาชน และจะต้องเปิดโอกาสโดยไม่มีเงื่อนไขให้ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆมีสื่อของตนเองได้ตามวิถีชีวิต และรสนิยม และสุดท้ายผมหวังว่าเราจะไม่ไปหลงกับภาพหลวงตาว่าประชาชนมีอำนาจแล้ว ตราบใดที่อำนาจยังไม่อยู่ในมือของประชาชน คนยาก คนจน คนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา อย่างแท้จริง

“เราต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทหาร เราต้องการการเลือกตั้งโดยเร็ว”

แนะนำหนังเรื่อง Lonesome Jim

วัฒนะ วรรณ



ผมมีหนังจะแนะนำให้ดู ชื่อเรื่อง Lonesome Jim แต่ผมไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำกับ เพราะเช่าหนังมาจากร้านเช่า VCD มีแต่แผ่นไม่มีรายละเอียด และผมก็อ่านภาษาอังกฤษไม่ออกด้วย เลยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำกับ หรือว่าเป็นหนังของสัญชาติไหนเดาว่าคงเป็นอเมริกัน แต่ก็ช่างมันเถอะ มันไม่สำคัญหรอก เพราะสิ่งที่จะเล่าให้ฟังที่เกี่ยวกับหนัง คงไม่ใช่จะให้ไปหาดูกัน ประเภทที่ไม่ดูไม่ได้ หนังเรื่องนี้ไม่มีความบันเทิงใดเลย ต้นทุนก็ต่ำ อาศัยแค่นางเอกน่ารักก็เท่านั้น ในโฆษณาของหนังมันบอกว่า เธอเป็นนางเอกเรื่อง The Lond of The Ring แต่ผมไม่เคยดูหรอก

เนื้อเรื่องก็ประกอบไปด้วย จิม ครอบครัว(มี พ่อ แม่ พี่ชาย และหลายสาวตัวเล็กๆอีกสองคน) แม่ม่าย ลูกติด(นางเอก) โดยที่เนื้อเรื่องเริ่มจาก จิม ที่พึ่งออกจากงานจูงหมาในเมืองใหญ่ เดินทางกลับมาบ้าน บ้านที่เขาไม่อยากกลับมาเลย ทั้งๆที่แม่ก็รักเขามาก แต่เขาก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่อยากกลับบ้าน อาจจะเป็นเพราะจิมไม่ประสบความสำเร็จใดๆเลย รวมถึงพี่ชายของจิมด้วยที่ไม่เคยประสบความสำเร็จใดๆเลย เลยต้องมาอาศัยพ่อแม่เพื่อเลี้ยงลูกสาวอีกสองคน

การเดินทางกลับมาพร้อมกับความผิดหวังคงเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมปัจจุบัน บางคนเลือกที่จะกลับไปเผชิญหน้ากับความไม่มีอนาคตที่บ้าน บางคนเลือกที่จะไม่กลับ (ตัวอย่างคนไร้บ้าน) หรือบ้างคนเลือกที่จะหนี้มันเหมือนกับพี่ชายของจิมที่เลือกจะฆ่าตัวตายโดยการขับรถชนต้นไม้ หรือว่าจิมที่เลือกจะเดินทางออกจากบ้านอีกครั้งหลังจากกลับมาอยู่บ้านไม่นาน

จิมไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม ไม่มีความหวัง ใดๆ เลยทั้งสิ้น สำหรับที่บ้าน ถึงแม้ว่าแม่จะรักจิมมาก แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่จิมตอบแม่หลังจากที่แม่ถามจิมว่า “เป็นอะไรหรือลูกๆของแม่ถึงไม่มีความสุขเลย” จิม ตอบว่า “พ่อแม่บางคนอาจไม่เหมาะกับการเลี้ยงลูก”

แล้วสังคมไทยปัจจุบันหล่ะ มีสักกี่คนที่ไม่อยากเดินทางกลับบ้าน หรือบางคนต้องกลับบ้านเพราะต้องการปกปิดบางอย่างกับคนรอบข้าง กับสังคมที่ตีค่าตีราคาให้คุณค่ากับครอบครัว เพราะครอบครัวที่อบอุ่นถูกสร้างให้เป็นตัวแทนของความสำเร็จในการใช้ชีวิต ดังนั้น หลายคนจึงแสดงออกว่ามีครอบครัวที่อบอุ่น แต่ภายในใจก็ต้องอึดอัดใจไม่น้อย ดูได้จากช่วงเทศกาล มีผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะสังสรรค์กับมิตรสหายที่บ้านมากกว่าจะเลือกอยู่กับครอบครัวเพียงลำพัง

บรรยากาศในหนังเต็มไปด้วยความเหงา ความสิ้นหวังไม่มีอนาคตใดๆ เลย ทุกคนอยู่เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ไปวัน ในเมืองเล็กๆ ถึงแม้ว่าหนังจะไม่แสดงให้เห็นถึงคำตอบใดๆมากนัก แต่เชื่อว่าคนที่ดูจะซึมซับเอาความรู้สึกแบบนั้นได้ไม่อยากนัก

และสุดท้ายในหนังเรื่องนี้พยายามจะให้ นางเอก เป็นตัวแปร เพื่อที่จะให้หนังจบแบบแฮปปี้แบบหนังทั่วๆไป แต่เอาเข้าจริงตัวนางเอกก็ไม่มีบทบาทเท่าไร เหมือนหนังจะฝืนจะให้จบแบบนั้น ก็คือ จิม เลือกที่จะตามหาความฝันอีกครั้งบนความไม่เสี่ยงที่เคยกระทำมา โดยการกลับมาอยู่กับนางเอก หลังจากขึ้นรถเพื่อจะเดินทางอีกครั้ง และก็เคยชวนนางเอกไปด้วย แต่นางเอกไม่ยอมไป เพราะว่าจิมไม่มีแผนใดๆเลยในการไปสร้างชีวิตใหม่ แม้กระทั่งสถานที่ที่จะไป

เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องพยายามไปหาเช่ามาดูนะ มันไม่สนุกหรอกเครียดด้วย แค่อยากเล่าให้ฟัง ฮ่าๆๆ

คำปราศรัยของ สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)

รัฐบาลของใคร...

คนหนุ่มสาว เสรีภาพ ขบถ

วัฒนะ วรรณ

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจ ก็คือ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากไม่ว่าสังคมใดๆก็แล้วแต่ที่ประกาศว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย นั่นก็หมายความว่าทุกคนที่อยู่ในสังคมนั้นย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในเรื่องต่างๆอย่างเท่าเทียมกันโดยมีข้อยกเว้นเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ สิทธิและเสรีภาพของเราจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่เรามีคำถามอยู่สองข้อที่จะต้องตอบในเรื่องนี้เพื่อทำความเข้าใจ ข้อแรก เสรีภาพที่พวกเรากำลังเสพสุขกันอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ข้อสอง ปัจจุบันเรามีเสรีภาพจริงๆมากน้อยแค่ไหน

เสรีภาพที่เกิดขึ้นมาในสังคมเรานั้นประวัติศาสตร์ได้บอกให้เรารู้ว่า ไม่เคยได้มาจากความใจดีของชนชั้นปกครอง(ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนายทุนมีหน้าที่บริหารจัดการให้กับระบบทุนนิยม) ที่หยิบยื่นให้เราแต่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้อง โดยเริ่มจากการขบถเล็กๆน้อยๆในเรื่องชีวิตประจำวัน สังคม และวัฒนธรรม จนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่พยายามควบคุมพฤติกรรมและกดทับเสรีภาพของเราอยู่

ประเทศไทยได้ผ่านการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยมาหลายครั้งหลายหน คนบริสุทธิ์ต้องเสียเลือดเสียเนื้อล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในยุคนั้นๆโดยเฉพาะยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่คนหนุ่มสาวมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่งของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น นอกจากการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองแล้ว ยังเรียกร้องพื้นที่ยืนทางด้านวัฒนธรรม สังคม และชีวิตส่วนตัวของตนเองควบคู่กันไปด้วย โดยกระทำผ่านการขบถเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน ผ่านสถาบันต่างๆของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองเอง เช่น ครอบครัว โรงเรียน วัด และมหาวิทยาลัย ตัวอย่างของการขบถ อาทิเช่น การไว้ผมยาวของผู้ชาย การใส่กางเกงยีนและตัดผมสั้นของผู้หญิง ซึ่งถูกมองจากชนชั้นปกครองผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากการที่ผู้หญิงใส่กางเกงยีนเป็นเรื่องงกระแดะที่อยากจะเท่าเทียมผู้ชายหรือการที่ผู้ชายไว้ผมยาวคลายผู้หญิงเป็นเรื่องที่เสียเกียรติ การขบถในเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นเรื่องการแต่งกายนั้น ได้นำคนหนุ่มสาวไปสู่การเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการปลดแอกเพศหญิงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้นการต่อสู้ที่กระทำผ่านการร่วมมือกันของทั้งหญิงและชายซึ่งเป็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยเสน่และน่ายกย่องอย่างมาก ได้สร้างความสัมพันธ์ที่เข้าใจกันของทั้งสองเพศหรือมากกว่านั้น ในขณะที่ต่อสู้ร่วมกันว่าศัตรูที่แท้จริงพวกเขาไม่ใช่คนที่ยืนอยู่ข้างๆเขาแน่นอน แต่เป็นชนชั้นที่พยายามกดขี่ควบคุมพวกเขาอยู่ต่างหาก นอกจากการขบถเพื่อต่อสู้ให้ได้มาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว ยังมีการขบถในรูปแบบอื่นๆอีก เช่น การต่อต้านระบบโซตัสในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระบบที่พยายามทำให้คนโง่ไม่ต่างจากสัตว์คิดอะไรเองไม่เป็นปลูกฝังความรุ่นแรงความก้าวร้าวโดยไร้เหตุผลนอกจากฟังคำสั่งจากรุ่นพี่หรือเรียกกันว่าระบบอาวุโส การตั้งคำถามกับการนับถือศาสนา เนื่องจากศาสนาสอนว่าเราต้องรู้จักพอเพียง ขยัน อดทน วิริยะ อุตสาหะ ชีวิตถึงจะมีความสุข แต่สิ่งที่คนหนุ่มสาวยุคนั้นได้รับรู้มันไม่เป็นอย่างที่ศาสนาสอน เพราะคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้ขี้เกียจแถมยังทำงานหนักกว่าคนรวยอีกด้วย แต่พวกเขาก็ยังจนอยู่ หรือการเสพงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่คนหนุ่มสาวนิยมอ่านกันอย่างแพร่หลายก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการขบถในขณะนั้น โดยการขบถดังกล่าวกระทำไปเพื่อต่อต้านความพยายามของชนชั้นปกครองที่ปลูกฝังให้เราเชื่อว่าคนธรรมดาไม่สามารถคิดอะไรเองได้ ดังนั้นจึงต้องมีบุคคลจากชนชั้นที่เหนือกว่าคอยควบคุมพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวที่พยายามคิดนอกกรอบวัฒนธรรมเดิมของชนชั้นปกครองที่สถาปนาตนเองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม (เช่น การดูถูกสตรีว่าสกปรกในเรื่องศาสนาหรือการเชื่อฟังผู้อาวุโสซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนและถูกเสมอ)

แต่แท้จริงแล้วเหตุผลหลักที่ชนชั้นปกครองพยายามควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนั้น ก็เพื่อจะคงความเป็นชนชั้นปกครองที่สามารถขูดรีดมูลค่าส่วนเกินแรงงาน(แรงงานกายและแรงงานสมอง)ของชนชั้นล่างได้ต่อไปนั่นเอง เพราะถ้าชนชั้นปกครองปล่อยให้คนหนุ่มสาวขบถต่อกรอบความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมเดิมมากขึ้น ก็จะทำให้คนหนุ่มสาวมั่นใจและจะเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในเรื่องอื่นๆเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การเปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองกลัวมาก เช่น ถ้าเราเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเพื่อมาดูแล สวัสดิการของพวกเราเองได้ ชนชั้นปกครองก็จะกลัวว่าเราจะเรียกร้องการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงจากนักเรียนนิสิตนักศึกษา หรือการเรียกร้องให้มีตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาในรัฐสภา ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเรียกร้องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การเรียนฟรี การรักษาพยาบาลฟรี โดยที่คุณภาพต้องดีขึ้นกว่าเดิม แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นปกครองบอกไม่มีเงิน แต่เราไม่ยอมและเรียกร้องให้เก็บภาษีจากคนรวย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ ใครจะได้ประโยชน์ใครจะเสียประโยชน์ และถ้าพวกเราคนหนุ่มสาวเรียนจบต้องเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆโดยนำความมั่นใจในการเรียกร้องเรื่องสิทธิและเสรีภาพติดตัวไปด้วย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประท้วงและนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดส่วนแบ่งของการผลิตที่ไม่เท่าเทียมกันในรูปของกำไรลง เพื่อเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นและลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อเพิ่มเวลาพักผ่อน เราเรียกร้องให้ในรัฐสภามีตัวแทนของแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆเข้าไปกำหนดความเท่าเทียมในเรื่องเศรษฐกิจ ใครจะเสียอำนาจ ใครจะได้ประโยชน์ นี่คงเป็นเพียงเหตุเล็กๆน้อยๆที่พยายามทำความเข้าใจว่าทำไม่ชนชั้นปกครองจึงพยายามจะควบคุมพฤติกรรม กล่อมเกลาความคิด ความเชื่อของเราผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆ ในรูปแบบกฎ ระเบียบ และความเชื่อ โดยที่เราไม่เคยมีส่วนในการออกแบบกฎระเบีบบและความเชื่อเหล่านั้นเลย นอกจากการถูกบังคับให้ปฎิบัติตาม เมื่อเราปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และความเชื่อเหล่านั้น ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กเกเรมีปัญหา ขาดความอบอุ่น คบเพื่อนไม่ดี หรืออื่นๆอีกหลายข้อกล่าวหา

แต่ตอนนี้เราลองมาสำรวจกันดูซิว่าเสรีภาพที่คนรุ่นก่อนพยายามสร้างขึ้นมานั้นมันอยู่ที่ไหนกัน เราสัมผัสมันได้มากน้อยเพียงใด มันมีอยู่จริงรึเปล่าในปัจจุบัน หรือว่าตอนนี้มันถูกทำให้กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่พรั่งพรูออกจากปากของพวกผู้นำชนชั้นปกครองในตอนนี้เท่านั้น โดยที่เราสูญเสียรูปธรรมของเสรีภาพไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว การสำรวจของเราคงเริ่มต้นจากสถาบันที่เล็กที่สุดก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับสถาบันที่ใหญ่กว่าต่อไป ซึ่งเสรีภาพมันอาจจะอยู่ตรงไหนสักที่หนึ่ง ที่ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็เป็นได้ หรือว่าเราคิดมากเกินไป เสรีภาพอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือหายไปไหน

ครอบครัว สถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด เรามีเสรีภาพและสามารถออกแบบกติกาต่างๆในครอบครัวของเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าวันหนึ่งเราบอกกับครอบครัวว่า เราจะเรียนปรัชญา เรียนเขียนรูป หรือไม่เรียนอะไรเลย และเรามีแฟนที่จะแต่งงานกันเร็วๆนี้ แต่แค่นี้ยังสะใจไม่พอเพราะคนรักของเราอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อหรือแม่ นอกจากนั้นคนรักของเราก็เป็น เกย์ กระเทย ทอม ดี้ อีกด้วย จะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อมันเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล โดยที่เราก็ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นด้วย หรือถ้าเราประกาศว่าจะไม่ยอมนับถือศาสนาเพราะเราเป็นคนดีอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องคอยให้ใครมาบอก ครอบครัวจะยอมรับได้หรือไม่ เราจะถูกกดดันหรือไม่ ถ้าครอบครัวไม่ยอมรับเราจะทำอย่างไร นั่นคือคำตอบ เราจะขบถ โดยการโต้เถียงไม่เชื่อฟัง ออกจากบ้าน อยู่กับเพื่อน หรืออื่นๆ เพื่อเป็นการต่อสู้ปกป้องพื้นที่สิทธิและเสรีภาพที่กำลังถูกละเมิดจากคนในครอบครัวที่มีอำนาจมากกว่าเรา เหตุผลคงไม่ใช่เพราะเขาเป็นพ่อแม่ แต่เป็นเพราะเขามีเงินและเราก็ต้องพึ่งพาเงินจากเขา แต่ถ้าเรามาลองจินตนาการกันเล่นๆซิว่า ถ้าตั้งแต่เราเกิดมารัฐก็จะรับเลี้ยงดูเรามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สุขภาพ หางานให้ทำเพื่อนำมูลค่าแรงงานที่เราสร้างขึ้นไปใช้ดูแลคนรุ่นก่อนหน้าเราที่สร้างผลผลิตไว้ให้เราบริโภคและคนรุ่นต่อไปที่ยังไม่สามารถทำงานได้ นอกจากนั้นการที่เราได้รับการดูแลจากคนรุ่นต่อไปเช่นเดียวกับที่เราดูแลคนรุ่นก่อนหน้าเรา คนรุ่นใหม่ในสังคมก็จะเป็นลูกหลานเราทุกคนและเขาก็จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันให้เกียรติกัน เนื่องจากต้องร่วมมือกันทำงานสร้างสรรค์ผลผลิตเพื่อสังคม มิใช่แข็งขันแย่งชิงกดคนอื่นลงเป็นเพียงเครื่องจักรเพื่อตัวเองดังเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน

โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เรายังถูกบังคับให้แต่งชุดนักศึกษาอยู่รึเปล่า เรามีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงได้หรือยัง ในคณะผู้บริหารสถาบันมีเพื่อนเราที่ถูกเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพวกเราอยู่ในนั้นหรือไม่ กฎ ระเบียบต่างๆ ที่สถาบันของเราออกมาบังคับใช้ เรามีส่วนร่วมเสนอแนะออกความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีเลย ยังมีการคลานเข่าที่เป็นวัฒนธรรมยุคทาสเข้าไปหาครูอาจารย์โดยที่ครูอาจารย์ยังเป็นผู้รู้มากไม่ยอมรับข้อถกเถียงของเราอยู่รึเปล่า ถ้ายังมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาแห่งใดย่อมหมายถึงไม่มีประชาธิปไตยในสถาบันแห่งนั้น เพราะไม่ว่าสังคมใดๆก็แล้วแต่มนุษย์ที่สังกัดในสังคมนั้นๆย่อมมีสิทธิและเสรีภาพทุกเรื่องเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ตราบใดที่สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น

เราคงไม่ต้องสรุปว่าปัจจุบันเรามีเสรีภาพจริงหรือไม่ เพราะทุกคนคงมีข้อสรุปในใจเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องสรุปคือสิทธิและเสรีภาพที่ได้มาทุกครั้งล้วนมาจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว โดยเริ่มการขบถเล็กๆน้อยๆเพื่อเรียนรู้และนำไปสู่การรวมตัวกันต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม ไปสู่ความถาวรของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

เราควรกินโค้กหรือไม่

วัฒนะ วรรณ

การที่เราบอกว่าเราต่อต้านทุนนิยม หลายคนเข้าใจว่าเราต้องต่อต้านความทันสมัย เราต้องต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องต่อต้านผลผลิตที่ถูกผลิตขึ้นภายในระบบทุนนิยมด้วย เช่นเราไม่ควรกินโค้กหรือใช้โทรศัพท์มือถือเป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ในความเป็นจริง เราต่อต้านระบบทุนนิยมโดยที่เราไม่ต่อต้านผลผลิตที่ถูกผลิตขึ้นภายในระบบทุนนิยม เหตุผลที่เราวิจารณ์ทุนนิยมก็เพราะว่าระบบทุนนิยมนั้นใช้การจัดสรรทรัพยากรโดยการใช้กลไกตลาดในการกระจายผลผลิตไปสู่ประชาชน ซึ่งเป็นระบบการจัดสรรทรัพยากรที่มีปัญหาเพราะเน้นกำลังซื้อเป็นหลัก ถ้าเรามองจากสภาพสังคมในปัจจุบัน เราจะพบว่าในระบบทุนนิยมนั้นมีการผลิตผลผลิตเป็นจำนวนมากที่สามารถใช้เลี้ยงประชาชนในโลกนี้ได้ทั้งโลกอย่างสบาย โดยที่เราไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำไป แต่สภาพความเป็นจริงที่เราพบเห็นคือประชาชนส่วนใหญ่ในโลกเผชิญกับปัญหาความอดยากมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค

เหตุผลที่เราไม่ต่อต้านผลผลิตที่ถูกผลิตขึ้นภายในระบบทุนนิยม นอกเหนือจากสิ่งเลวร้ายเช่นอาวุธสงคราม หรือสินค้าที่มาจากการซื้อขายคน(เช่นเรื่องการซื้อขายเพศ) ก็เนื่องจากมันเป็นผลผลิตที่กรรมาชีพทั่วโลกร่วมกันผลิตขึ้นมาเพื่อบริโภค แต่กลับถูกพวกนายทุนขโมยผลผลิตเหล่านั้นและกำไรไปอย่างหน้าด้านๆ โดยการอ้างกฎหมายกรรมสิทธิ์ที่พวกนายทุนสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงพวกเรา ดังนั้นผลผลิตส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตขึ้นในโลกล้วนเป็นของพวกเราชนชั้นกรรมมาชีพที่ผลิตขึ้นมาบริโภค เพื่อที่จะมีสภาพการดำเนินชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสดวกสบายขึ้น เช่นตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เป็นต้น หรือแม้แต่เครื่องดื่มที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมแบบโค้ก

การปฏิเสธความสะดวกสบายของโลกสมัยใหม่ หรือการลดการบริโภคของคนชั้นล่างไม่มีทางนำไปสู่การสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า เพราะเป็นการมองย้อนยุคแบบเพ้อฝัน ขัดแย้งกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ และไม่ได้ก่อให้เกิดพลังอะไรในการท้าทายอำนาจของชนชั้นปกครอง การไม่บริโภคผลผลิตที่มาจากจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อที่จะทำให้ระบบทุนในสหรัฐอเมริกาอ่อนแอและล่มสลายไปในที่สุดโดยหวังทำให้ระบบทุนนิยมทั่วโลกล่มสลายไปด้วย ได้ผลจริงหรือไม่? ถ้านายทุนใหญ่ประเทศหนึ่งล้มไปจะไม่ทำให้เกิดนายทุนใหญ่อีกประเทศหนึ่งขึ้นมาแทนที่หรือ และถ้าเป็นเช่นนั้นเราคงจะต้องหยุดการบริโภคทั้งหมด จนต้องตายก่อนพวกนายทุนเป็นแน่ การที่เราจะเลิกกินโค้กหรือเลิกบริโภคเทคโนโลยีสมัยใหม่มักเป็นการกระทำของปัจเจกในระดับผู้ซื้อ ซึ่งไร้พลังอย่างยิ่งถ้าเทียบกับการนัดหยุดงานแบบรวมหมู่ของผู้ผลิตที่กดดันกำไรของนายทุนโดยตรงได้

พวกเราจะไม่หยุดการบริโภค ยิ่งกว่านั้นเราต้องหาทางยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนรวมเพื่อเอาผลผลิตของพวกเราที่พวกนายทุนขโมยไปกลับคืนมา เราจะได้บริโภคเพิ่มอีกด้วย และเรื่องกินโค้กหรือไม่กินคงต้องขึ้นอยู่กับรสนิยมมากกว่าอะไรอื่นใด

คนหนุ่มสาวสร้างพรรคการเมืองระดับชาติได้หรือไม่

วัฒนะ วรรณ

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเลือกตั้ง การหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงเติม เสริม แต่ง สีสันให้กับสังคมไทยในตอนนี้ได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวคำปราศรัยด้วยวาทศิลป์ชวนฟัง หรือจะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งตีพิมพ์ แต่ก็มีคำถามมากมายเกี่ยวกับนโยบายและรูปแบบการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองเหล่านั้น ว่าจำเป็นแค่ใหนที่จะต้องนำงบประมาณจำนวนมากมายมาใช้หาเสียงแทนที่จะนำงบประมาณเหล่านั้นไปเพิ่มสวัสดิการให้กับสังคม(จะได้ไม่ต้องแปรรูปมหาลัย) หรือจะกลัวว่าประชาชนจะไม่เชื่อ เหตุผลเดียวที่ทำให้ไม่เชื่อ คือไม่ไว้ใจ และทำไมถึงไม่ไว้ใจ คำถามนี้คงตอบได้ไม่อยากเพราะว่าตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินที่เรียกว่าดินแดน(กรงขัง)ขวานทอง มีพรรคการเมืองสักกี่พรรคที่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เราคงต้องคิดกันนานหน่อยและถ้าเป็นนโยบายที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่แล้วล่ะก้อ! คงคิดกันไม่ออก

แต่อีกด้านหนึ่งหลายคนก็ยังคงตั้งความหวังกับนโยบายการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ถึงแม้จะไม่ค่อยมั่นใจว่านโยบายเหล่านั้นจะถูกนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่หลายคนยังหวังว่านโยบายหลายๆนโยบาย จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น ความยากจนจะถูกแก้ไขหรือทำให้มันบรรเทาลงบ้าง ความรุนแรงต่างๆก็คงจะหมดไป สิทธิเสรีภาพก็น่าจะมีมากขึ้น และอีกหลายๆ ความหวัง ถ้าเป็นเช่นนี้ความหวังของเราคงผูกติดกับนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ยอมทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้อะไรจะเกิดขึ้น ใช่! ทุกอย่างก็จบ เราจะทำอะไรได้นอกจากหวังต่อไป (หดหู่จัง) แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเต็มไปด้วยไฟแห่งการสร้างสรรค์และพร้อมจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม คงจะไม่ยอมให้ใครมาทำให้ผิดหวังได้ง่ายๆ

ดังนั้นตอนนี้เรามีสองคำถามที่จะต้องช่วยกันตอบ คือ ในเมื่อเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นพรรคของชนชั้นนายทุนเรายังจะคลาดหวังกับพรรคการเมืองเหล่านี้กันอีกต่อไปหรือไม่และจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นล่างจริงๆ

โฉมหน้าที่แท้จริงของพรรคนายทุน

ท่ามกลางการปลุกกระแสรักชาติ(รักไทย)ของรัฐบาลไทยรักไทยในปัจจุบันทำให้เราได้เห็นความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกับพรรคกับการเมืองที่มีอยู่ในสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน คงจะไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่สามารถทำให้ประชาชนล้มตายอย่างน่าสลดใจได้เท่ากับรัฐบาลไทยรักไทย ความรุนแรงถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ คำโกหกถูกพูดออกมาเหมือนกับว่าประชาชนเป็นคนโง่ เช่น คำโกหกที่บอกว่าการส่งทหารไทยไปประเทศอิรัคเพื่อช่วยฟื้นฟู แต่จากสภาพความเป็นจริงก็คือไปช่วยสหรัฐอเมริการุกรานอิรัค จนมีทหารเสียชีวิตสองนาย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาลไทยรักไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ถ้าถามว่าดีไหม คงต้องตอบว่าดี คนจนได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์ ถ้าถามต่อว่าพอไหม คำตอบก็คือ ไม่พอ ไทยรักไทยมีบุญคุณกับเราไหม ก็คงตอบว่าไม่มี

ทำไมถึงไม่พอ หลายคนคงสงสัย ก็ดูปัจจุบันซิ มีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ถ้าในสังคมยังมีคนรวยกับจนอยู่เราจะพอใจได้อย่างไร สวัสดิการเพียงน้อยนิดที่หยิบยื่นให้เราก็เป็นเพียงแค่เศษอาหารของพวกพรรคนายทุน เราต้องการมากกว่านี้

ทำไม่พรรคไทยรักไทยถึงไม่มีบุญคุณกับเราก็เพราะว่า รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนอยู่แล้ว โดยเงินที่นำมาใช้จัดสวัสดิการก็คือเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น คนที่เราควรจะมีบุญคุณด้วยก็คือคนที่ทำการผลิตผลผลิตต่างๆที่ให้เราบริโภค ถ้าไม่มีผลผลิตต่างๆที่ชาวนาและกรรมาชีพผลิต(แต่นายทุนมักจะอ้างกฎหมายกรรมสิทธิ์เพื่อยึดผลผลิตเป็นของตนเอง) เงินก็เป็นเพียงแค่เศษกระดาษกับตัวเลขทางบัญชี

พรรคนายทุนไม่เคยมีความจริงใจในการสร้างความเท่าเทียมและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดูจากตัวอย่างง่ายๆ ขณะที่พรรคไทยรักไทยมือข้างหนึ่งได้ยื่นเศษอาหารให้กับเรา มืออีกข้างก็จะตัดสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิยาลัยออกนอกระบบ ด้วยเหตุผลก็เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้กับกลุ่มทุน โดยไม่สนใจว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนจะแย่ลงหรือไม่ มันยุติธรรมแล้วหรือ!

นอกจากตัดสวัสดิการแล้วมือข้างเดียวกันยังถือปืนที่พร้อมจะใช้ เข่นฆ่า บังคับ ข่มขู่ ประชาชน จนทำให้บรรยากาศของสังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง จนดูราวเหมือนกับว่าความรุนแรงคือทางออกเดียวในการแก้ปัญหา แต่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนกับเราสองเรื่อง เรื่องแรก การใช้ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหาลดน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งเพิ่มปัญหาและสร้างความรุนแรงมากขึ้น สอง สิ่งที่ทำให้สังคมเราแยกออกจากสังคมยุคป่าเถื่อนก็คือ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ต้องการเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ เพราะมันทำให้อิทธิพลของเขาลดลง

นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายนี้มากกว่า 2500 ศพ ผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาผ่านกระบวนการยุติธรรมและถ้าคนเหล่านั้นมีความผิดจริงโทษก็ไม่ควรถึงขั้นต้องเสียชีวิต (เรามีสิทธิ์จะตัดสินให้คนอื่นควรมีชีวิตอยู่หรือว่าควรตายได้หรือไม่ ???) และคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาและหลายคนก็ยากจนด้วย ไม่เห็นจะมีพ่อค้ารายใหญ่ที่เป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงนักการเมืองบางคนถูกจับในการปราบปรามยาเสพติดครั้งนี้เลย หรือชีวิตคนจนมันไร้ค่า

การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ที่กรือเซะ จังหวัด ปัตตานี และท้องที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ฝ่ายประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีเพียงแค่ดาบติดมือหรือปืนเพียงหนึ่งหรือสองกระบอก รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงมากขนาดนั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์(อย่าลืมว่ารัฐมีหน้าที่สร้างความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐจึงไม่สามารถใช้ข้ออ้างความรุนแรงที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้นเพื่อตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน)

เหตุการณ์สลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมโดยสงบตามสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ผลจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ศพ 6 ศพ เสียชีวิตขณะสลายการชุมนุม และอีก 79 ศพ เสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง(หรือว่าบ้านนี้เมืองนี้กลายเป็นดินแดนป่าเถื่อนที่ไร้มนุษยธรรมกันแล้ว)

กรณีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมตามกรอบของกฎหมายในคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมผู้ต้องหามุสลิม ซึ่งปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกหนึ่งตัวอย่าง ดังนั้น เราจึงสามารถประกาศได้ว่ารัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศนี้แล้ว

นอกจากพรรครัฐบาลไทยรักไทยจะหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว พรรคฝ่ายค้านไทยก็ไร้น้ำยา ไม่มีพรรคฝ่ายค้านพรรคไหนยื่นอยู่ข้างประชาชน ไม่เห็นมีพรรคฝ่ายค้านพรรคใดออกมาคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การส่งทหารไทยไปตายที่อิรัค และประณามรัฐบาลกรณีใช่ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพึ่งพรรคการเมืองที่มีอยู่ในตอนนี้ได้อีกต่อไป

สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราได้พบเห็นความจริงจากบรรดาพรรคการเมืองนายทุน ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคนายทุนไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมหล้ำในสังคมให้หมดไป โดยดูได้จากปัจจุบันระดับความยากจนยังขยายวงกว้างออกไปอย่างหน้าใจหาย คนรวยรวยขึ้นทุกวันส่วนคนจนก็ยิ่งจนลงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประเทศไทยมีเศรษฐีก็มีเงินเป็นหมื่นๆล้าน แต่ก็มีคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ดินทำกิน ขาดโอกาสทางการศึกษา ค่าแรงไม่พอยังชีพและตกงานอยู่เป็นจำนวนมาก

คนรวยมีสิทธิเสรีภาพต่างๆมากมายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในบางครั้งสิทธิเสรีภาพของคนรวยยังดูเหมือนจะอยู่เหนือกรอบของกฎหมายเสียด้วยซ้ำ(หลายคนคงเคยพบเห็นมาบ้างในเรื่องนี้) แต่สำหรับคนจนสิทธิเสรีภาพไม่ต้องพูดถึงแค่จะมีชีวิตอยู่ไปแต่ละวันก็อยากแล้ว ดังคำที่ชาวมาร์กซิสเคยพูดไว้ว่า “สิทธิเสรีภาพการกินอาหารในโรงแรมชั้นหนึ่งจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน” หรือเราเกิดมาบนโลกคนละใบกัน

คำถามหนึ่งที่เราจะต้องตระโกนถามดังๆว่า ทำไมการเริ่มต้นชีวิตของมนุษย์เมื่อแรกเกิดจึงดูเท่าเทียมกัน แต่เมื่อเวลาเดินผ่านไปแต่ละวินาที ความห่างระหว่างชนชั้นก็เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้น ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติบทความชิ้นนี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลยและเราก็คงจะต้องทนอยู่ในสภาพสังคมที่เน่าแฟะ สภาพสังคมที่ไม่อนุญาตให้คุณลืมล็อกกุญแจเมื่อออกจากบ้าน สภาพสังคมที่ไม่รับประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคุณ นอกเสียจากคุณจะมีมือที่ยาวกว่าคนอื่น และนำมันมาใช้ในการขึ้นไปยืนบนหลังของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรามีทางเลือกอื่นอีกไหม!!

ถ้าเราเชื่อว่าสภาพสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์ เราก็มีความหวังเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้ เราสามารถทำให้ชนชั้นหมดไปจากโลกใบนี้ได้ เราทำให้สังคมเท่าเทียมกันได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เราสามารถสร้างโลกใบใหม่ที่สวยงามกว่านี้ได้

คนหนุ่มสาวคือความหวัง

ทำไมเราถึงมั่นใจในพลังของคนหนุ่มสาว ทำไมเราถึงเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาว ทำไมคนหนุ่มสาวคือความหวัง คำถามต่างๆเหล่านี้คงไม่สามารถใช้ความรู้สึกตอบได้ นอกจากประวัติศาสตร์และการลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันจากทั่วโลก นี่แหละคือคำตอบและความหวัง

ในประวัติศาสตร์เกิดอะไรขึ้นกับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น คนหนุ่มสาวสร้างความเจริญอะไรบ้างให้กับสังคมปัจจุบัน ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 นักศึกษาหัวก้าวหน้าได้เข้าไปจัดตั้งกลุ่มศึกษาร่วมกับกรรมกรในโรงงานและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปฏิวัติรัสเซียจากการปกครองระบอบกษัตริย์ที่กดขี่ขูดรีด เพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบสังคมนิยมที่เท่าเทียม ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น 5 ปี การปฏิวัติจะล้มเหลวระบบสังคมนิยมไม่สามารถเกิดขึ้นได้(สหภาพโซเวียต จีน ลาว เวียตนาม คิวบาและเกาหลีเหนือไม่ใช่สังคมนิยม) แต่เราเรียนบทเรียนจากข้อผิดพลาดในอดีตได้ หรือจะเป็นนักศึกษาจีนที่ตั้งขบวนการกู้ชาติในปี 1911 นักศึกษาและกรรมาชีพวัยรุ่นที่ก่อกบฏในตะวันตกปี 1968 นักศึกษาและวัยรุ่นที่ล้มเผด็จการในอินโดนีเซีย ในเกาหลีใต้

ในประวัติศาสตร์ไทย 14 ตุลาคม 2516 พลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่กล้าลุกขึ้นมาล้มเผด็จที่ปกครองประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้อีก 3 ปีต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เราจะถูกปราบจนพ่ายแพ้ แต่พลังของคนหนุ่มสาวก็ไม่เคยเกรงกลัวหรือว่ายอมก้มหัวต่อความไม่เป็นธรรมและอำนาจเผด็จการใดๆ เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งของพลังนักศึกษาถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนกับอดีตแต่เราก็สู้จนเป็นฝ่ายชนะ นี่คือประวัติศาสตร์ ที่ทำให้มีความหวังในปัจจุบัน

ในปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นบนโลกบ้าง การประท้วงต่อต้านการทำสงครามของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกากับอังกฤษในประเทศอิรัค ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นการประท้วงของภาคประชาชนสากลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แค่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวก็ส่งผลให้แผนการครองโลกของจักรวรรดินิยมยักใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้แค่ประเด็นเดียวแคบๆ ที่พูดถึงแต่เพียงเรื่องสันติภาพเท่านั้น

การต่อสู้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นการต่อสู้ที่พัฒนามาจากการต่อสู้ของขบวนการต้านเสรีนิยมของกลุ่มทุน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการประชุม WTO ที่ Seattle ในปี 2542 และขยายใหญ่ไปเป็น “กระแสต้านทุนนิยม” หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในการประท้วง G8, IMF, ADB, APEC ฯลฯ

ท่ามกลางวิกฤตแห่งศรัทธาในระบบทุนนิยมและกลไกตลาด จึงมีการก่อกบฏในหลายที่ของลาตินอเมริกา เช่น อาเจนตินา และ โบลิเวียร์ และในขณะเดียวกันขบวนการต่อต้านระบบทุนนิยมและกลไกตลาดก็พยายามหาทางออกใหม่โดยจัด เวทีสมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) เพื่อเป็นพื้นที่ถกเถียงกันของภาคประชาชนสากล

จากเหตุการณ์การประท้วง Seattle จนถึงปัจจุบัน เราคงต้องกล่าวว่าผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้ต่างๆ คือ คนหนุ่มสาว คือ นักเรียน คือ นักศึกษา คือ กรรมาชีพรุ่นใหม่

นอกจากฟื้นตัวการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในระดับสากลจะเกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทยเองขบวนการการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวกำลังถูกรื้อฟื้น ดูได้จากกระแสการต่อสู้การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการเกิดขึ้นของกลุ่มนักศึกษารักสันติภาพ ที่ไม่พอใจการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลไทยรักไทย แล้วเราจะทำอะไรกันต่อ!!!

พรรคการเมืองของคนหนุ่มสาวในอดีต

ในประวัติศาสตร์ ยุค 14 ตุลา 16 หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่นาน คนหนุ่มสาวในยุคนั้นเข้าใจดีว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเราจำเป็นจะต้องต่อสู้กับแนวคิดฝ่ายขวาแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กลัวการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะจะทำให้คนเหล่านี้สูญเสียผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่าง

ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งแนวคิดอย่างเป็นระบบของฝ่ายผู้ถูกกดขี่ โดยคนหนุ่มสาวในยุคนั้นได้เริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นระบบจากการตั้งพรรคฝ่ายซ้ายภายในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อต่อสู้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่น การต่อต้านระบบอาวุโส ยกเลิกการรับน้องแบบโซตัสเพราะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เปลี่ยนมาเป็นการรับเพื่อนใหม่ที่มีความเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้นพรรคการเมืองของนักศึกษายังเชื่อมโยงการต่อสู้กับขบวนการภาคประชาชนอื่นๆภายนอกรั้วมหาวิยาลัย และที่สำคัญพรรคการเมืองก้าวหน้าของนักศึกษายังมีบทบาทสำคัญในพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายระดับชาติ เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

ตัวอย่างพรรคนักศึกษาฝ่ายซ้ายในอดีต ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ก่อตั้ง พรรคสัจธรรม เมื่อ พ. ศ. 2517 สามารถชนะการเลือกตั้งองค์การบริหารและสภานักศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 โดยมี มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม เป็นนายกองค์การ มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้ตั้งพรรคแนวร่วมมหิดล สมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มีการตั้งพรรคพลังและสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าชื่อ พรรคประชาธรรม สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เช่นกัน และในปี พ.ศ. 2519 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคนักศึกษาก้าวหน้าถูกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ชื่อพรรคจุฬาประชาชน และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2519 โดยมี เอนก เหล่าธรรมทัศ เป็นนายกสโมสร นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฐานที่มั่นของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายล้าหลัง พรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าคือพรรครวมพลังสามัคคี ก็ชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ยังมีการตั้งพรรคนักศึกษาก้าวหน้าในวิทยาลัยครูอีกหลายแห่ง สำหรับโรงเรียนมัธยมแม้จะไม่มีการตั้งพรรคการเมือง แต่กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าก็ขยายองค์กรของตนเองได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าคนหนุ่มสาวกับการตั้งพรรคการเมืองก้าวหน้าเพื่อต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบกดขี่รูดรีดของชนชั้นปกครองชนชั้นนายทุน สามารถเกิดขึ้นได้ถึงแม้วันนี้ขบวนการนักศึกษาไม่เข้มแข็งเหมือนดังเช่นอดีตก็ตาม แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเราคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันไม่ควรมองข้าม คือก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาก็ไม่ได้เข้มแข็งมาก่อน เพราะฉนั้นในปัจจุบันขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าจะเข้มแข็งเหมือนอดีตก็ไม่ไช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยอมแพ้ก่อนที่จะสู้หรือไม่

พรรคก้าวหน้าของคนหนุ่มสาวปัจจุบันควรมีหน้าตาอย่างไร

ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยฝ่ายภาคประชาชนเคยมีชัยชนะ 2 ครั้ง คือช่วง 14 ตุลาคม 2516 และช่วง พฤษภาทมิฬ 2535 แต่เกิดอะไรขึ้น ทำไมชัยชนะของเราจึงดูเหมือนเป็นภาพลวงตา เราสัมผัสมันได้มากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ชัยชนะ 2 ครั้งของฝ่ายเราสามารถล้มผู้ปกครองเผด็จการที่กดขี่รูดรีดเราได้ แต่หลังจากนั้นเราก็โยนชัยชนะของเราให้กับผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่ดูเหมือนใจดี ที่พร้อมจะไม่กดขี่เรา แต่ปัจจุบันเราคงได้เรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์กันมากพอแล้ว การต่อสู้ในรอบใหม่เราต้องมุ่งที่จะยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชนโดยแท้จริง เราจะไม่โยนชัยชนะให้กับพรรคนายทุนหน้าไหนทั้งนั้น เพระพวกนายทุนไว้ใจไม่ได้ ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่ยอมอยู่แบบทาสการปลดโซ่ตรวนคือทางออกเดียวของเรา

เครื่องมือสำคัญในการปลดโซ่ตรวจ คือ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและเราควรมีจุดยืนร่วมกันดังนี้ ข้อแรก เราต้องคัดค้านเสรีนิยมของกลุ่มทุนและกลไกตลาด ข้อสอง เราต้องคัดค้านจักรวรรดินิยมและคัดค้านนายทุนในประเทศเราเอง ข้อสาม เราจะยืนอยู่เคียงข้างและสนับสนุนสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกกดขี่ ข้อสี่ เราต้องส่งเสริมเสรีภาพ สันติภาพ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ข้อห้า เราต้องส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียมกัน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

พรรคการเมืองที่เราจะร่วมกันสร้างต้องมุ่งเน้นการเมืองนอกสภาเป็นหลักแต่ไม่ปฏิเสธการลงเลือกตั้งเพื่อเสนอนโยบาย การพยายามสร้างฐานมวลชนขยายจำนวนสมาชิกเป็นหน้าที่สำคัญของพรรค เงินทุนที่ใช้จะต้องมาจากสมาชิกพรรคในอัตราก้าวหน้าและผู้สนับสนุนจากชนชั้นเดียวกันเท่านั้น เช่น สหภาพแรงงาน และองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ และนี่คือรูปร่างหน้าตาคราวๆของพรรคที่เราจะต้องร่วมกันสร้าง ดังนั้นรูปร่างหน้าตาที่สมบูรณ์จะต้องเกิดจากสมาชิกพรรคทั้งหมดร่วมกันสร้าง และเมื่อถึงวันนั้นโลกใบใหม่จะเกิดขึ้นจริงได้ใช่เพียงความฝัน

พรรคเราจะรวบรวมการต่อสู้ต่างๆของภาคประชาชนมาผนึกกำลังกัน พรรคเราจะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาวทั้งนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ผู้รักความเป็นธรรม พรรคเราจะเต็มไปด้วยบรรยากาศของประชาธิปไตยที่หาไม่ได้จากพรรคนายทุน พรรคเราจะมีมวลชนร่วมกันเป็นเจ้าของ พรรคเราจะยืนอยู่เคียงข้างผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีดในสังคมทุกรูปแบบ พรรคที่เป็นของเราโดยแท้จริง!!! พรรคแนวร่วมภาคประชาชน !!!

ไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จงสู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
จับมือกันไว้แล้วก้าวเดินต่อไป สู่จุดหมายด้วยใจของเรา

---------------------------------------------

หนังสือและบทความอ้างอิง
ใจ อึ๊งภากรณ์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ.อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง.กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544
สมพร จันทรชัย. บรรณาธิการ, ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544
ข้อเสนอต่อพี่น้องภาคประชาชนเพื่อสร้างพรรคแนวร่วม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน, 2547

28/10/50

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ม.นอกระบบ กับ กลไกตลาด

วัฒนะ วรรณ

นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการหรือที่เรียกกันติดปากว่า ม.นอกระบบ กับ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน สองนโยบายที่มีการพูดถึงกันมากในหลายปีที่ผ่านมามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร? ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนยากคนจนจะมีมากน้อยแค่ไหน? และทำไมนโยบายเหล่านี้จึงเกิดขึ้น?

สองนโยบายที่พูดถึงมีที่มาจากแนวคิดเดียวกัน คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดเสรีของระบบทุนนิยม มองว่ากลไกตลาดคือทางออกสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง กลไกตลาดเป็นเครืองมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆของสังคมที่ดีที่สุด และคำว่าประสิทธิภาพก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถใช้เป็นบทพิสูจน์ได้แล้วว่า “กลไกตลาด” ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่และมีแนวโน้มที่จะยากจนเพิ่มขึ้น

ในเมื่อกลไกลตลาดมีปัญหาทำไมรัฐบาลที่ชอบอ้างถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จึงพยายามนำมาใช้ในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมากอยู่แล้วในขณะนี้

คำตอบคือ กลไกตลาดมีปัญหากับคนส่วนใหญ่จริง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีประโยชน์สำหรับนายทุนที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม เพราะสามารถสร้างความร่ำรวยให้กับนายทุนที่เอาตัวรอดจากการแข่งขันได้ จนทำให้มีนายทุนไทยติดอันดับต้นๆของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกหลายคน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นนายทุนกลุ่มใดหรือคนใดในรัฐบาลออกมาคัดค้านนโยบายนี้ นอกจากนายทุนบางส่วนที่อยู่คนละฟากกับรัฐบาล แต่เหตุผลในการคัดค้านของนายทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนจน แต่ยืนอยู่บนเหตุผลที่ตนเองไม่ได้ผลประโยชน์เสียมากกว่า

ดังนั้นรูปธรรมของคนพวกนี้จึงไม่มีการเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน เช่น การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าจากคนรวย การเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน คัดค้านสงครามหรือคัดค้านแนวคิดเสรีนิยม

คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในความหมายของระบบทุนนิยมก็คือเน้นกำไรสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากประสิทธิภาพของระบบสังคมนิยมที่เน้นการบริการคนส่วนใหญ่ที่ยากจน ประสิทธิภาพที่เน้นกำไรสูงสุดในรูปธรรมย่อมหมายถึง การพยายามลดต้นทุนทางการผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นลูกจ้างและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะต้องถูกลดจำนวนลง และคนที่เหลือต้องทำงานมากขึ้น ตัดการบริการบางอย่างที่ไม่สร้างกำไร และเพิ่มค่าบริการ วิชาที่มีคนเรียนน้อยแต่มีประโยชน์กับสังคมจะถูกตัดออกไป เช่น ปรัชญา การเมืองฝ่ายซ้าย วรรณคดีไทย ฟิซิกส์แนวทฤษฏี ฯลฯ พร้อมกันนั้นต้องมีการเพิ่มวิชาบริหารธุรกิจ วิชาที่จบง่ายๆ หรือวิชาไร้สาระที่ขายได้ เช่นกอลฟ์สำหรับ C.E.O. (มีในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย!!) และจะต้องมีการเพิ่มค่าเทอม

บทสรุปจากการนำมหาวิทยาลัยเกี่ยวเข้ากับกลไกตลาดจากประเทศตะวันตกคือ สัดส่วนนักศึกษาจากครอบครัวกรรมาชีพลดลง เพราะต้นทุนการเรียนสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการอ้างว่าจะมีทุนพิเศษให้คนจน –ซึ่งไม่เคยเพียงพอ

เหตุผลที่กลไกตลาดไร้ประสิทธิภาพเพราะมองเพียงแค่อำนาจชื้อในปัจจุบัน และไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตในอนาคต โดยไม่มีการวางแผนการผลิต จึงนำมาสู่ปัญหาสองข้อที่เกิดขึ้นเป็นประจำในระบบทุนนิยม

ข้อแรก การมองเพียงอำนาจชื้อไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินซื้อสินค้าและบริการ

ข้อสอง การที่ต้องดูความต้องการในปัจจุบันและทำการผลิตในอนาคตโดยใช้กลไกตลาด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิต เอกชนที่แสวงหากำไรสูงสุดจะแข่งขันกันผลิตสินค้าและบริการ จนนำไปสู่ผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการ กำไรก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะระบบทุนนิยมไม่มีการวางแผนการผลิต ไม่มีการวางแผนว่าสังคมต้องการอะไร จำนวนเท่าไร และจะผลิตกันอย่างไร ทุกอย่างในกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมถูกกำหนดโดยกลไกตลาด

ตัวอย่างความล้มเหลวของกลไกตลาดมีมากมาย เช่น วิกฤตการผลิตล้นเกินที่ทำให้เศรษฐกิจเอเซียพังในปี 1997 การที่ไฟฟ้าดับในรัฐ California การที่รถไฟอังกฤษไม่มีความปลอดภัย หรือสภาพจราจรในกรุงเทพฯ…

เหตุผลสำคัญที่นักเสรีนิยมส่วนใหญ่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะเขามองว่านโยบายเหล่านี้สามารถลดบทบาทและภาระของรัฐในเรื่องการบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา การลดงบประมาณด้านการศึกษาร่วมถึงการบริการอื่นๆที่จัดให้กับคนจน จะช่วยให้ธุรกิจเอกชนไทยฟื้นตัว เพราะจะทำให้รัฐลดการเก็บภาษีจากเอกชน และรัฐจะได้ไม่แย่งกู้เงินกับเอกชนซึ่งอาจช่วยให้เอกชนกู้เงินได้ง่ายขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย ดังนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขายให้เอกชน กระทำไปเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนรวยเป็นหลัก นี่คือความหมายแท้ของคำขวัญที่บอกว่า “รัฐต้องสร้างวินัยทางการเงิน”

จริงๆ แล้วภายใต้ระบบทุนนิยมการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลากโลกนักเสรีนิยมจึงไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียรายได้จากการลดงบประมาณรัฐ ดังนั้นเราจึงได้ยินคนที่สนับสนุนนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบพูดถึงความสามารถของมหาวิทยาลัยที่หารายได้เองมาทดแทนส่วนที่ลดงบประมาณจากรัฐและนี้คือความหวังของพวกเสรีนิยมที่สนับสนุนนโยนบายนี้ (รัฐไทยต้องการลดภาระในงบประมาณมหาวิทยาลัยถึง 50%) การหารายได้เสริมดังกล่าวจะมาจากการเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้นและ การรับเหมาทำการวิจัย หรือการขายวิชาและปริญญา ซึ่งในที่สุดมีผลในการทำลายมาตรฐานทางวิชาการสำหรับสังคมทั่วไปอยู่ดี

นอกจากการลดภาระภาษีแล้ว นักเสรีนิยมมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องการแปรรูปสถาบันรัฐ (ยกเว้นกองทัพ) ในเรื่องของการบริหารบุคคล นักเสรีนิยมต้องการตลาดแรงงานที่มีความ “คล่องตัว” เพราะเขามองว่าการซื้อแรงงาน “อย่างเสรีและคล่องตัว” โดยนายจ้างจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ทั้งหมดนี้หมายความว่าเขาไม่ต้องการกฎเกณฑ์ใดๆ ที่เป็นอุปสรรคในการปลดคนออก โยกย้ายตำแหน่ง หรือให้คุณให้โทษ ดังนั้นวิธีบริหารต้องเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินให้กับผู้บริหารระดับสูง ต้องไม่มีสหภาพแรงงาน ต้องลดจำนวนลูกจ้าง และงานใดเปลี่ยนเป็นการรับเหมาช่วงในราคาถูกก็ควรทำ

ทั้งหมดนี้คือคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องคัดค้านนโยบาย “เสรีนิยม” คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

หนี…ตาย

วัฒนะ วรรณ

คุณเคยคิดจะฆ่าตัวตายไหม! ผมเคย และถ้าคุณไม่เคย ผมจะเล่าให้คุณฟัง เมื่อคุณเริ่มคิดที่จะฆ่าตัวตาย คุณจะได้สัมผัสกับความรู้สึกที่วิเศษที่สุดนับตั้งแต่คุณเริ่มมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มันเหมือนกับการยกก้อนหินที่ใหญ่และหนักมาก ออกจากหัวของคุณ คุณจะเริ่มรู้สึกถึงความสบาย โลกทั้งใบกำลังจะหยุดนิ่ง ทุกสิ่งรอบตัวกำลังจะหยุดเคลื่อนไหว ไม่ต้องคิดถึงอะไร อดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ไม่ต้องกังวลถึงความหิว ความอบอุ่น ความรัก การเรียนที่น่าเบื่อ การทำงานที่ทำให้มนุษย์เป็นเครื่องจักร คุณจะว่างเปล่า ล่องลอย ไร้ตัวตน หลุดพ้น และคุณกำลังจะหนี….ใช่ ! คุณเข้าใจไม่ผิด คุณกำลังจะหนี

หลายคนที่คุณเคยเดินผ่านตามท้องถนน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย หลายคนที่คุณรู้จัก เคยรู้จัก พูดคุยกัน สนิทกัน รักกัน หรือว่าคนที่นั่งอยู่ข้างๆคุณตอนนี้ ลองถามเขาดูซิ

ผมเชื่อว่าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตของหลายๆคน เคยคิดที่จะหนี รวมทั้งผมด้วย แล้วทำไมมนุษย์หลายคนบนโลกใบนี้ถึงคิดจะหนี ทั้งๆที่มีคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับความรื่นรมย์ ความสวยงามและความน่าอยู่ของโลกใบนี้ โลกที่พวกเราอาศัยอยู่แต่ไม่สามารถออกแบบมันได้ ซึ่งมันควรจะเป็นหน้าที่ของเรา

อย่างนั้นเราก็ถูกหลอกใช่ไหม ถึงความสวยงามของโลกใบนี้ เพราะหลายคนคิดที่จะหนีจากโลกใบนี้ ผมก็ตอบไม่ได้

บางครั้งผมก็รู้สึกดีกับโลกใบนี้ถ้าผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำโดยมันไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่ในหลายครั้งผมก็รู้สึกเซ็งกับโลกเน่าๆใบนี้ โลกที่เราต้องอยู่ในความควบคุมของคนบางกลุ่มตลอดเวลา และก็หลอกลวงเราว่าถ้าเราเชื่องโลกนี้ก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าคุณเปิดทีวี หรือเดินออกมาจากบ้าน คุณเจออะไร ขอทาน เด็กเร่ร่อน คนคุ้นขยะ ความหิว คนไร้บ้าน ความอบอุ่น อาชญากรรม สงคราม เลือด ความไม่ปลอดภัย รวมถึงการเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อจะจบออกไปทำงานที่น่าเบื่อ และก็มีปีศาจคอยกระซิที่ข้างหูคุณอยู่ตลอดเวลาว่า “ เจ้ามนุษย์ที่โง่เขลาพวกเจ้าจะต้องทำงานที่น่าเบื่อให้หนักขึ้นกว่าเดิม และพวกชนชั้นนายทุนอย่างพวกข้าจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ “

ใช่…โลกที่น่าจะสวยงามใบนี้เต็มไปด้วยขยะมากมาย ขยะที่พวกเราไม่เคยสร้าง พวกเราสร้างอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค ศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้สวยงามและก็น่าอยู่ แต่พวกเรากับไม่เคยได้เสพมันเสพสิ่งที่พวกเราสร้าง เพราะพวกปีศาจจะขโมยมันไปและทิ้งขยะไว้ให้กับพวกเรา

คุณคงพอที่จะเข้าใจบ้างแล้วซินะ ว่าทำไมถึงมีมนุษย์หลายคนที่คิดจะหนีจากโลกใบนี้ หลายคนหนีได้สำเร็จ แต่อีกหลายคนก็หยุดก้าวสุดท้ายของการหนีไว้แค่เพียงความคิด และพยายามเดินฝ่ากองขยะออกไปซึ่งไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ ณ ที่แห่งใด แต่ก็เดินต่อไป…ต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตสู่ปัจจุบัน และจากปัจจุบันสู่อนาคต หรือว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องหยุดเดิน และมาจับมือกันช่วยกันกวาดขยะเพื่อโลกใบใหม่ ที่สวยงามกว่าโลกใบนี้

ไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จงสู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
จับมือไว้แล้วก้าวเดินไป สู่จุดหมายด้วยใจของเรา
ร่วมฝ่าฟัน…เดินไป เพื่อโลกใหม่ที่งดงาม

8/8/50

บทเพลงแห่งรัก

วัฒนะ วรรณ

ฉันอยู่ด้วยความหวัง และมีความฝันเป็นเพื่อน
มีความสุขมากๆนะ ยังรักเธอไม่เสื่อมคลาย


บทเพลงแห่งรัก


เมื่อคราวใดที่ฉันได้ใกล้ชิดเธอ
สุขเสมอเมื่อเธอส่งยิ้มมาให้
ช่วงเวลาที่แสนหวาน แม้ไม่เนิ่นนานแต่ยิ่งใหญ่
สุดหัวใจดวงน้อย..ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

หากวันใดเมื่อเธอพบรักของเธอ
ฉันจะไม่เพ้อที่จะดึงเธอมาครอบครอง
แต่ฉันจะเฝ้ามอง และคอยเป็นกำลังใจ
ให้สุขสมหวังดั่งตั้งใจ ที่ปราถนา

วันคืนที่ล่วงเลย จะติดตรึงใจไปชั่วนิรันดร์
กาลเวลาที่ผ่านผัน ยิ่งนานวันยิ่งเข้าใจ
ความรักที่มอบให้ เปรียบดั่งเชื้อไฟแห่งความหวังดี
ที่ลุกโชนในใจดวงนี้ และอีกหลายดวงในโลกของเรา