7/11/50

สื่อเสรี เสรีภาพสื่อ เสรีภาพของใคร

วัฒนะ วรรณ

จากข่าวคราวของไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทีไอทีวี(ซึ่งไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรในการเปลี่ยน) ที่ปรากฎบนพื้นที่สื่อต่างๆ ได้สร้างความสนใจต่อสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงมีข้อเสนอต่างๆมากมายเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะมีสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆสักที

ที่มาที่ไปของสื่อสาธารณะ สื่อเสรี สื่ออิสระ ก็คงมาจากเหตุการณ์พฤษภา ปี 35 ซึ่งขณะนั้นสื่อส่วนใหญ่ถูกมองว่าไม่สามารถเสนอข่าวที่ถูกต้องให้กับประชาชนได้ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่มีสโลแกนว่า “สื่อเสรี” และหลักการเบื้องต้นก็คือจะทำอย่างไรที่จะทำให้สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ปราศจากการควบคุมโดยรัฐ คำตอบคือการทำให้เป็นของเอกชนและพยายามไม่ให้เอกชนรายหนึ่งรายใดผูกขาดความเป็นเจ้าของสื่อใหม่นี้ โดยกำหนดสัดส่วนว่าไม่ให้เอกชนรายใดถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งเอาเข้าจริงๆผู้ที่ควบคุมทิศทางข่าวก็อยู่ในมือของผู้บริหารกลุ่มทุน จนนำไปสู่นิสัยเดิมๆของกลุ่มทุนที่เข้ามาผูกขาดอย่างที่เราๆท่านๆเข้าใจกัน ดังนั้นการที่จะทำให้เกิดสื่อที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะจริงๆต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ความอิสระ และสื่อเสรี
เวลาที่เราจะพิจารณาความมีอิสระเราต้องพิจารณาจากรูปธรรมว่าจริงๆแล้วความอิสระมีจริงรึเปล่า คำว่า “อิสระ” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นผลพ่วงมาจากเหตุการณ์พฤษภาเช่นเดียวกัน ดังนั้นคำว่าอิสระจึงถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงขั้นฟุ่มเฟือย แต่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วความมีอิสระมันมีจริงหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างที่ปรากฎที่ผ่านมา องค์กรอิสระต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีความเป็นอิสระจริงๆดังที่คาดหวัง เพราะมันอิสระจากประชาชนโดยสิ้นเชิง กระบวนการต่างๆถูกออกแบบมาเพื่อมีคนกลุ่มเล็กๆทำแทนประชาชน ไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เพราะฉนั้นองค์กรเหล่านี้จึงไม่ต้องรับผิดชอบกับสังคมเช่นเดียวกัน แต่กลับรับผิดชอบกับกลุ่มอำนาจที่แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เข้าไปในองค์กรอิสระมากกว่า

ถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมหมายความว่าทุกคนทุกองค์กรต้องมีราก มีที่มา มันไม่มีความเป็นอิสระจริงๆ มันขึ้นอยู่ว่าคุณจะอิสระจากใคร และจะไม่อิสระจากใคร รากที่มาจึงมีความสำคัญ รวมถึงการบำรุงรักษา ตัดแต่งให้ปุ๋ยให้น้ำด้วย ที่ผ่านมารากไม่ได้มาจากประชาชนเพราะคำว่า “อิสระ”ที่ถูกใช้เรียกแทนความหมายขององค์กรต่างๆ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชน รวมถึงการบำรุงรักษา ตัดแต่งให้ปุ๋ยให้น้ำ ยิ่งไม่ใช้บทบาทหน้าที่โดยตรงของประชาชนด้วยซ้ำไป ยิ่งกว่านั้นถ้าประชาชนไม่ต้องการ ก็ไม่สามารถถอนมันทิ้งไปได้ เราจึงสรุปได้ว่าองค์กรอิสระนั้น มีความอิสระจากประชาชนจริงๆ แต่จะไปใกล้ชิดกลับใครบ้าง ท่านทั้งหลายก็คงเห็นๆกันอยู่ คงไม่ต้องอธิบายมาก

เมื่อเรามาพิจารณาสื่อเสรี “ไอทีวี” มันจึงไม่มีความอิสระตั้งแต่แรก เพราะมันอยู่ในมือของกลุ่มทุนตั้งแต่ต้น ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้บ้างที่ผ่านมา ของพนักงานไอทีวีในเหตุการณ์ “กบถไอทีวี” แต่การต่อสู้โดยลำพังในครั้งนั้นก็ประสบกับความพ่ายแพ้ ซึ่งส่งผลให้การต่อสู้ไม่ปรากฎเกิดขึ้นอีกเลย จนมาถึงครั้งล่าสุดเมื่อมีการจะปิดการออกอากาศของไอทีวี

การต่อสู้ในยุค “กบถไอทีวี” เป็นการต่อเพื่อปากท้อง เพื่อความมั่นคง เพื่อวิถีชีวิต เพื่อสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่แตกต่างจากการต่อสู้ในครั้งนี้มากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก ที่คนธรรมดาที่ครั้งหนึ่งเคยพ่ายแพ้ แต่ก็สามารถกลับมายืนหยัดต่อสู้ได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับการต่อที่เรายกย่องความกล้าหาญของสหภาพแรงงานที่ออกมาปกป้องสวัสดิการของตนเอง เรายกย่องพี่น้องชนบทที่ปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิต และอีกหลายๆกรณี ที่คนธรรมดาออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งแน่นอนความก้าวหน้าของ “ไอทีวี” อาจจะไปไม่ไกลเกินเรื่องปากท้อง และทำให้หลายคนอาจจะแสดงความไม่พอใจ จนหลายคนอาจจะออกมาประนามเย้ยหยัน เมื่อ “ไอทีวี” ออกมาพูดถึงเป้าหมายของเขาว่าจะพยายามเป็น “สื่อเสรีเพื่อประโยชน์กับสาธารณะ” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราวิเคราะห์จากการทำงานที่ผ่านมา เราไม่อาจคาดหวังได้ว่ามันจะเป็นจริง เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ แต่การที่เรามาก่นด่าพนังงาน “ไอทีวี” นั้น มันเป็นเรื่องถูกต้องแล้วเหรอ ศรัตรูของเราคือ “กรรมกรข่าว” ใช่หรือไม่

เราต้องกลับมาทบทวนว่าแท้จริงแล้ว ศรัตรูตัวจริงของเราเป็นใคร พี่น้องกรรมกรคอปกขาว คอปกน้ำเงิน ชาวนา คนจน หรือว่าเป็นนายทุนและตัวแทนของพวกเขา และเราต้องพิจารณาอีกด้วยว่า อะไรที่ทำให้พี่น้องเราไม่กล้าออกมาต่อสู้ที่ผ่านมา อะไรที่ทำให้เขาขาดความมั่นใจ เราควรที่จะเห็นใจเขามากกว่าการประนาม เพราะการที่เราจะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในบริษัทโดยลำพังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีแรงกดดันมากมายที่เขาเผชิญอยู่ และเมื่อเขาออกมาสู้เราจะต้องสนับสนุนไม่ให้เขาต่อสู้เพียงลำพัง และช่วยพัฒนาการต่อสู้ให้ไปไกลเกินกว่าเรื่องปากท้อง เราต้องช่วยกันเรียกร้องกดดันให้สื่อทุกสาขา ทุกองค์กร มีสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความมั่นคงในการทำงาน และเพื่อปกป้องการถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุนและอำนาจรัฐ

ข้อเสนอการปฎิรูปสื่อ
การที่เราจะมีสื่อที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะได้ สื่อต้องอยู่ในมือประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ เราต้องมีสถาบันสื่อที่ถูกบริหารและควบคุมโดยประชาชน เราไม่ควรประณีประนอมเฉพาะแค่ทีวีช่องเดียว แต่เราจะต้องพยายามพูดถึงสื่ออื่นๆด้วย ไปพร้อมๆกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะไม่มีหลักประกันอันใด ว่าสื่อสาธารณะที่อยู่ในมือประชาชน จะเกิดขึ้นได้ในอำนาจของเผด็จการ ผู้บริหารจะต้องประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานของสื่อ ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ตามสัดส่วน ซึ่งจะต้องมีตัวแทนชาวนา 40 % กรรมกร 40 % และตัวแทนต้องถูกเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนตามสาขาอาชีพ ไม่ใช่ในขอบเขตของพื้นที่

สื่อต้องอิสระจากกลุ่มทุน เพราะฉนั้นจะต้องไม่มีโฆษณา รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณโดยเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องบริการประชาชน และจะต้องเปิดโอกาสโดยไม่มีเงื่อนไขให้ประชาชนสาขาอาชีพต่างๆมีสื่อของตนเองได้ตามวิถีชีวิต และรสนิยม และสุดท้ายผมหวังว่าเราจะไม่ไปหลงกับภาพหลวงตาว่าประชาชนมีอำนาจแล้ว ตราบใดที่อำนาจยังไม่อยู่ในมือของประชาชน คนยาก คนจน คนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา อย่างแท้จริง

“เราต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทหาร เราต้องการการเลือกตั้งโดยเร็ว”

2 ความคิดเห็น:

จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ กล่าวว่า...

ทดสอบคับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทดสอบอีกครั้ง