7/11/50

เสียงของชาวพม่าจากแดนไกลต่อปัญหาที่บ้านเกิด: “เราทนไม่ไหวแล้ว เราไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว”

เที่ยงวันอาทิตย์ วันที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า “วันครอบครัว” เพราะเป็นวันที่คนส่วนใหญ่ในครอบครัวจะหยุดพร้อมกัน บางก็ใช้วันนี้ทำกิจกรรมกันที่บ้าน บางก็เลือกออกมาข้างนอก เดินห้างจับจ่ายใช้สอย ดูหนัง ฟังเพลง แล้วแต่รสนิยมของใครของมัน

แต่สำหรับผมต้องเดินทางมาย่านใจกลางเมืองตามคำแนะนำแกมบังคับจากเพื่อน ให้มาพูดคุยซักถามเพื่อนชาวพม่า ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าขณะนี้ว่าพวกเขามีความคิดความรู้สึกกันอย่างไรบ้าง

ผมได้นัดเพื่อนชาวพม่าไว้สองคน ก่อนที่เราจะคุยกันเพื่อนชาวพม่า พวกเขาขอไม่ให้ผมถ่ายรูปและขอไม่ใช้ชื่อจริง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของพวกเขา ทั้งนี้พวกเขาคงไม่ได้กังวลว่ารัฐบาลทหารพม่าจะมาทำร้ายเขาในเมืองไทย แต่คงกังวลเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากกว่า ถึงแม้พวกเขาจะมีบัตรถูกต้องแต่ด้วยความที่เป็นพลเมืองชั้นล่างสุดในประเทศไทย ย่อมเปิดโอกาสให้พวกเขาถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคนได้

0 0 0

จูไล เม หญิงสาวผู้จากบ้านมาเพื่อต้องการเห็นความเจริญในประเทศไทย เธอออกจากบ้านที่รัฐกระเหรี่ยง ในประเทศพม่า เมื่อปี 2545 ตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 16 ปี และกำลังจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยพี่ชายและพี่สาวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยต้องการคนมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เธอจึงต้องสละโอกาสทางการศึกษาและมุ่งหน้ามาสู่ประเทศไทยแทนพี่ชายคนกลางของเธอ

“พี่ชายคนกลางของฉันปฏิเสธที่จะมาเมืองไทย ตามที่พี่สาวและพี่ชายของฉันทำงานอยู่ที่เมืองไทยต้องการ ฉันเลยต้องมาแทนเขา”

“แต่ตอนนั้นฉันไม่ได้คิดอะไร เมื่อพี่ชายไม่มาฉันก็อาสามาเอง และตอนนั้นฉันก็ไม่รู้สึกว่าที่บ้านเดือดร้อนด้วย เพราะแม่เป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนมัธยม และพ่อก็เป็นอาจารย์ในโรงเรียนเดียวกัน ในเมืองหลวงของรัฐกระเหรี่ยง แต่ที่ฉันตัดสินใจมาก็เพราะว่าอยากมาเมืองไทย เพราะรู้ว่าประเทศไทยเจริญกว่าในพม่ามาก อยากมาเห็น ก็คงเป็นความคิดธรรมดาของเด็กอายุ 16 ในตอนนั้น เพราะฉันไม่ค่อยรู้อะไรมาก แค่อยากมาเห็นประเทศไทย และก็คิดว่าจะอยู่ไม่นาน เก็บเงินได้ก็จะกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อในพม่า”

ถึงแม้ว่าจูไล เม จะยืนยันว่าการที่เขาเข้ามาในประเทศไม่ไช่เหตุผลเพราะที่บ้านในพม่ามีความลำบากเรื่องเศรษฐกิจ ตามความรู้สึกที่เขารับรู้ตอนนั้น เมื่อเทียบกับคนอื่นๆที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย เพราะครอบครัวของเขาในพม่าก็ถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่มีอาชีพที่ดีพอสมควร คือเป็นอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมในเมืองหลวงของรัฐกระเหรี่ยง

แต่ก็น่าคิดว่าพี่ชายกับพี่สาวสองคนที่เดินทางมาทำงานก่อนหน้า จูไล มาด้วยเหตุผลอะไร และทำไมเมื่อต้องการให้น้องชายต้องเดินทางมาประเทศไทยเพื่อช่วยกันทำงานด้วย แต่นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่าไรเมื่อเธอเข้ามาในประเทศไทยแล้ว

“ฉันเข้ามาแบบสบายมาก เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ เพราะนั่งรถเข้ามาถึงกรุงเทพเลย พี่สาวกับพี่ชายก็ช่วยติดต่อให้ทั้งหมด ทั้งเรื่องการเดินทาง เรื่องงาน ร่วมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินทาง”

แต่การเข้ามาแบบสบาย ใช่ว่า จูไล เม จะสามารถหลีกหนีชะตากรรมที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทยเผชิญไปได้ นั่นก็คือความไม่มั่นคงในชีวิต

“เมื่อเดินทางมาถึงก็ได้ทำงานเลย คือทำงานในร้านขายเค้ก แถวสุขุมวิท ได้เงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท แต่ก็ทำได้แค่เดือนเดียวก็ออก เพราะไม่เคยทำงานมาก่อน อยู่พม่าเรียนจบ ม.6 ก็มาเมืองไทยเลย อีกอย่างภาษาก็ไม่ได้ คุยกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง”

“เมื่อออกจากร้านเค้ก ก็ไปทำงานเป็นแม่บ้าน ได้เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกัน งานที่ทำก็ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน เลี้ยงเด็ก ก็ทำเกือบทุกอย่างในบ้าน บ้านที่ทำอยู่แถวดอนเมือง ทำได้ 1 ปี แล้วก็ลาออก เพราะงานที่ทำมันอยู่ไกลญาติๆ ก็เลยย้ายมาอยู่แถวศรีนครินทร์ ก็มาทำงานบ้านเหมือนกัน แล้วก็ได้เงินเพิ่มเป็นเดือนละ 4,000 บาท งานที่ทำก็เหมือนที่เดิม”

เธอสามารถทำงานเก็บเงินทองได้จำนวนหนึ่ง และหวังที่จะกลับนำทุนทรัพย์ที่หาด้วยน้ำพักน้ำแรงนี้กลับไปสานฝันทางการศึกษาของเธอ การเรียนต่อในมหาวิทยาลัย --- แต่เมื่อกลับบ้าน เธอกลับเจออีกปัญหาอีกครั้ง ทำให้เธออยู่ที่บ้านเกิดได้ไม่นานนัก

“เมื่อปี 2548 ก็กลับพม่า ตอนนั้นคิดว่าจะไม่กลับมาที่เมืองไทยแล้ว เก็บเงินได้ 30,000 บาท ตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็กลับไปได้แค่เดือนเดียว ก็ต้องกลับมาเมืองไทยอีก เพราะที่บ้านแม่ติดการพนันเป็นหนี้เต็มไปหมด และตอนนี้ทำงานร้านค้าได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท แต่ก็ต้องทำงานบ้านด้วย แต่งานก็ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน และวันอาทิตย์ก็ได้มาเรียน ได้เจอเพื่อนด้วย”

และเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการมาอยู่เมืองไทยนานๆ

“เมื่อ 3 ปีก่อน ฉันคิดถึงบ้านมากๆ นอนร้องไห้บ่อยๆ อยากกลับบ้าน แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกแบบนั้นแล้วเพราะเริ่มชิน แต่ก็ยังอยากกลับไปอยู่บ้านอยู่ดี ถ้าเก็บเงินได้ก็จะกลับไปทำงานที่บ้าน ทำอะไรก็ได้”

ความคิดที่จะกลับไปที่บ้าน ใช้ชีวิตแบบปกติสุขที่บ้านเกิดเมืองนอนของ จูไล คงจะไม่ง่ายนักสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แย่ในพม่า หลังจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิง 5 เท่า ทำให้พระสงฆ์และประชาชนต้องออกมาประท้วงและก็กำลังถูกปราบปรามโดยทหารพม่าและกองกำลังอันธพาลที่ถูกจัดตั้งโดยทหารอย่างหนัก

“ตอนนี้ฉันก็ได้ติดตามข่าวบ้าง จากเพื่อนๆ บ้าง จากอินเตอร์เน็ตบ้าง เพื่อนก็คุยกัน ก่อนหน้านี้พวกเราก็ไม่ค่อยรู้อะไรเลย ตอนอยู่พม่าก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารเขาไม่ให้เรารู้อะไร แต่พอมาอยู่เมืองไทยก็ได้รู้มากขึ้น และตอนนี้เราก็สนใจมากขึ้น เพื่อนเกือบทั้งหมดก็สนใจเรื่องในพม่า”

“คนพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เข้ามาด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ส่วนมากเข้ามาก็เพราะที่บ้านลำบากมาก เมื่อตอนนี้เรารู้ว่าในพม่าเกิดอะไรขึ้น พวกเราก็แค้นมากๆ รัฐบาลไม่สนใจเราเลย ประชาชนเดือดร้อนแล้วก็ออกมาเดินขบวน แต่พวกเขาก็จะจับประชาชน พระสงฆ์เขาก็จับ ประชาชนออกมาเดินขบวนก็เพราะว่าอยากให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น”

“แต่พอรู้ว่าทหารจับคนเดินขบวนและมีคนตายด้วย พวกเราที่คุยกันก็แค้น ว่าทำไมรัฐบาลเป็นอย่างนี้ ทำไมใจร้ายอย่างนี้ แล้วตอนนี้ฉันอยากจะมีส่วนในการประท้วงด้วย อยากเขาไปร่วมต่อสู้ในพม่า ไปเดินประท้วงเพื่อบอกรัฐบาลว่าเราทนไม่ไหวแล้วเราไม่มีอะไรต้องกลัวอีก เพราะประชาชนลำบากมากๆ มากจนไม่กลัวแล้ว เราลำบากมากแล้ว รัฐบาลไม่เคยทำอะไรให้ดีขึ้นเลย”

0 0 0

นาน เว ชายหนุ่มร่างเล็กจากรัฐฉาน เขาต้องออกจากโรงเรียนตอนมัธยมเพื่อมาช่วยครอบครัวทำงาน ด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นพี่ชายคนโต

“ผมต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านทำงาน บ้านผมทำนาแต่ก็ไม่ค่อยดี รายได้ไม่พอกิน แต่ทำงานในพม่าก็ไม่พอกิน ก็เลยต้องเข้ามาทำงานในเมืองไทย ที่บ้านไม่ได้บังคับให้มาเมืองไทยหรือต้องส่งเงินกลับบ้าน ผมอาสามาเอง อยากรู้ด้วยว่าเมืองไทยต่างจากที่บ้านยังไง”

ตอนที่มาเมืองไทย นาน เว อายุประมาณ 23 ปี โดยเขามีญาติที่อยู่เมืองไทยหางานไว้ให้แล้ว แต่เนื่องด้วยปัญหาบางอย่างทำให้เขาต้องเดินทางมาช้ากว่ากำหนด พร้อมทั้งเสียงานแรกไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ

“ญาติหางานให้ผมแล้ว แต่ผมมาช้าไป เลยต้องหางานใหม่ ได้งานที่โรงงานทำขวดน้ำ”

การทำงานที่โรงทำขวดน้ำ นาน เว ได้ค่าแรงเป็นเป็นรายวัน วันละ 170 บาท โดยมีพักที่โรงงานให้ แต่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 50 บาท และห้องหนึ่งสำหรับพักผ่อนของพวกเขาต้องอยู่รวมกันถึง 6 คน ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ คับแคบ และอีกปัญหาที่ นาน เว ต้องเจอก็คือ งานในโรงงานมักไม่ค่อยมีทำ ซึ่งทำให้รายได้เขาลดลงไปด้วย

“ที่นี่ไม่ค่อยมีงาน บางครั้งอาทิตย์นึงต้องหยุด 3-4 วัน งานมันน้อย ถ้าไม่มีงาน ก็ไม่ได้เงิน แต่เถ้าแก่ก็จะให้เงินบ้างไว้ซื้อข้าวกิน”

นาน เว อดทนอยู่กับสภาพนั้นได้ไม่นานนัก ก็จึงต้องเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ซึ่งนาน เว ได้ไปทำงานที่ร้านทำน้ำพริก โดยพี่ชายของเขาชวนให้ไปทำด้วยกัน ที่นี่นานเวได้ทำงานทุกวัน แต่ก็เป็นงานที่หนักหนาอยู่สมควรเหมือนกัน

“ที่นี่มีงานทุกวัน ได้ค่าจ้างวันละ 190 บาท แต่ต้องตื่นตอนตี 1 เลิกงานก็ประมาณ 3 โมงเย็น”

สำหรับประเด็นเรื่องการกลับบ้าน นาน เว คำตอบของ นาน เว ให้ความเห็นไว้ว่า

“ผมอยากกลับบ้านมากๆ คิดถึงบ้าน มาอยู่ที่นี่เกือบ 4 ปีแล้ว ถ้าได้กลับบ้านก็จะไม่มาอีก อยู่ที่นี่ถ้ามีบัตรก็อยู่ได้สบายใจ แต่ถ้าไม่มีบัตรก็ต้องหลบๆซ่อนๆ ไปไหนมาไหนก็ลำบาก ตอนนี้อยู่ที่นี่ยังดีอยู่ จะเก็บเงินสักก้อน ถ้าไม่ดีแล้วก็จะกลับบ้าน กลับไปทำงานที่บ้าน อาจจะเปิดร้านขายของเล็กๆ แต่น้องชายผมเขาอยากมาเมืองไทย แต่ผมไม่อยากให้มา ตอนนี้เขาก็ยังเรียนอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อยากให้มาอยู่ดี เพราะอยู่ที่นี่มันลำบาก เดินทางก็ลำบาก ทำงานก็ลำบาก”

รวมถึงเรื่องประเด็นความขัดแย้งในพม่า นาน เว ได้ให้ความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนพลัดถิ่นทั้งหลาย

“ผมไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวจากสื่อ แต่จะมีเพื่อนๆโทรมาบอกต่อๆกัน เมื่อพวกเรารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นตอนนี้ มันน่าเศร้ามากๆ มันเจ็บปวด ประชาชนออกมาประท้วงอย่างจริงใจ แต่รัฐบาลทำอย่างนี้มันเศร้ามาก มันน่าเจ็บใจ เมื่อเทียบกับประเทศไทย เมื่อประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรประชาชน ประชาชนพม่าออกมาประท้วงก็ต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตอนนี้ในพม่า คนรวยเขาเอาเงินมาลงทุน ทำงานนิดเดียวแต่ได้เงินเยอะ สำหรับคนจนทำงานเท่าไรก็ไม่พอกิน ถ้าผมอยู่ในพม่าผมก็จะออกไปประท้วงด้วย ผมรู้ว่ามีการจับโดยทหาร แต่ผมก็ไม่กลัว เพื่อนๆก็ไม่กลัว”

0 0 0

... การเดินทางของพวกเขา อาจจะมีรายเอียดในการเริ่มต้นและจุดจบที่แตกต่างกันบ้าง แต่สำหรับเป้าหมายใหญ่แล้วพวกเขามีความต้องการชีวิตที่ปกติสุขเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: