7/11/50

คนหนุ่มสาว เสรีภาพ ขบถ

วัฒนะ วรรณ

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจ ก็คือ เรื่องสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากไม่ว่าสังคมใดๆก็แล้วแต่ที่ประกาศว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย นั่นก็หมายความว่าทุกคนที่อยู่ในสังคมนั้นย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในเรื่องต่างๆอย่างเท่าเทียมกันโดยมีข้อยกเว้นเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ สิทธิและเสรีภาพของเราจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่เรามีคำถามอยู่สองข้อที่จะต้องตอบในเรื่องนี้เพื่อทำความเข้าใจ ข้อแรก เสรีภาพที่พวกเรากำลังเสพสุขกันอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ข้อสอง ปัจจุบันเรามีเสรีภาพจริงๆมากน้อยแค่ไหน

เสรีภาพที่เกิดขึ้นมาในสังคมเรานั้นประวัติศาสตร์ได้บอกให้เรารู้ว่า ไม่เคยได้มาจากความใจดีของชนชั้นปกครอง(ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนายทุนมีหน้าที่บริหารจัดการให้กับระบบทุนนิยม) ที่หยิบยื่นให้เราแต่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้อง โดยเริ่มจากการขบถเล็กๆน้อยๆในเรื่องชีวิตประจำวัน สังคม และวัฒนธรรม จนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่พยายามควบคุมพฤติกรรมและกดทับเสรีภาพของเราอยู่

ประเทศไทยได้ผ่านการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยมาหลายครั้งหลายหน คนบริสุทธิ์ต้องเสียเลือดเสียเนื้อล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวในยุคนั้นๆโดยเฉพาะยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่คนหนุ่มสาวมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่งของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น นอกจากการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองแล้ว ยังเรียกร้องพื้นที่ยืนทางด้านวัฒนธรรม สังคม และชีวิตส่วนตัวของตนเองควบคู่กันไปด้วย โดยกระทำผ่านการขบถเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน ผ่านสถาบันต่างๆของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองเอง เช่น ครอบครัว โรงเรียน วัด และมหาวิทยาลัย ตัวอย่างของการขบถ อาทิเช่น การไว้ผมยาวของผู้ชาย การใส่กางเกงยีนและตัดผมสั้นของผู้หญิง ซึ่งถูกมองจากชนชั้นปกครองผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากการที่ผู้หญิงใส่กางเกงยีนเป็นเรื่องงกระแดะที่อยากจะเท่าเทียมผู้ชายหรือการที่ผู้ชายไว้ผมยาวคลายผู้หญิงเป็นเรื่องที่เสียเกียรติ การขบถในเรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นเรื่องการแต่งกายนั้น ได้นำคนหนุ่มสาวไปสู่การเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการปลดแอกเพศหญิงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้นการต่อสู้ที่กระทำผ่านการร่วมมือกันของทั้งหญิงและชายซึ่งเป็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยเสน่และน่ายกย่องอย่างมาก ได้สร้างความสัมพันธ์ที่เข้าใจกันของทั้งสองเพศหรือมากกว่านั้น ในขณะที่ต่อสู้ร่วมกันว่าศัตรูที่แท้จริงพวกเขาไม่ใช่คนที่ยืนอยู่ข้างๆเขาแน่นอน แต่เป็นชนชั้นที่พยายามกดขี่ควบคุมพวกเขาอยู่ต่างหาก นอกจากการขบถเพื่อต่อสู้ให้ได้มาในเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว ยังมีการขบถในรูปแบบอื่นๆอีก เช่น การต่อต้านระบบโซตัสในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระบบที่พยายามทำให้คนโง่ไม่ต่างจากสัตว์คิดอะไรเองไม่เป็นปลูกฝังความรุ่นแรงความก้าวร้าวโดยไร้เหตุผลนอกจากฟังคำสั่งจากรุ่นพี่หรือเรียกกันว่าระบบอาวุโส การตั้งคำถามกับการนับถือศาสนา เนื่องจากศาสนาสอนว่าเราต้องรู้จักพอเพียง ขยัน อดทน วิริยะ อุตสาหะ ชีวิตถึงจะมีความสุข แต่สิ่งที่คนหนุ่มสาวยุคนั้นได้รับรู้มันไม่เป็นอย่างที่ศาสนาสอน เพราะคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้ขี้เกียจแถมยังทำงานหนักกว่าคนรวยอีกด้วย แต่พวกเขาก็ยังจนอยู่ หรือการเสพงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่คนหนุ่มสาวนิยมอ่านกันอย่างแพร่หลายก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการขบถในขณะนั้น โดยการขบถดังกล่าวกระทำไปเพื่อต่อต้านความพยายามของชนชั้นปกครองที่ปลูกฝังให้เราเชื่อว่าคนธรรมดาไม่สามารถคิดอะไรเองได้ ดังนั้นจึงต้องมีบุคคลจากชนชั้นที่เหนือกว่าคอยควบคุมพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวที่พยายามคิดนอกกรอบวัฒนธรรมเดิมของชนชั้นปกครองที่สถาปนาตนเองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม (เช่น การดูถูกสตรีว่าสกปรกในเรื่องศาสนาหรือการเชื่อฟังผู้อาวุโสซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนและถูกเสมอ)

แต่แท้จริงแล้วเหตุผลหลักที่ชนชั้นปกครองพยายามควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนั้น ก็เพื่อจะคงความเป็นชนชั้นปกครองที่สามารถขูดรีดมูลค่าส่วนเกินแรงงาน(แรงงานกายและแรงงานสมอง)ของชนชั้นล่างได้ต่อไปนั่นเอง เพราะถ้าชนชั้นปกครองปล่อยให้คนหนุ่มสาวขบถต่อกรอบความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมเดิมมากขึ้น ก็จะทำให้คนหนุ่มสาวมั่นใจและจะเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในเรื่องอื่นๆเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การเปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองกลัวมาก เช่น ถ้าเราเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเพื่อมาดูแล สวัสดิการของพวกเราเองได้ ชนชั้นปกครองก็จะกลัวว่าเราจะเรียกร้องการเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงจากนักเรียนนิสิตนักศึกษา หรือการเรียกร้องให้มีตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาในรัฐสภา ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเรียกร้องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การเรียนฟรี การรักษาพยาบาลฟรี โดยที่คุณภาพต้องดีขึ้นกว่าเดิม แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นปกครองบอกไม่มีเงิน แต่เราไม่ยอมและเรียกร้องให้เก็บภาษีจากคนรวย เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ ใครจะได้ประโยชน์ใครจะเสียประโยชน์ และถ้าพวกเราคนหนุ่มสาวเรียนจบต้องเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆโดยนำความมั่นใจในการเรียกร้องเรื่องสิทธิและเสรีภาพติดตัวไปด้วย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราประท้วงและนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดส่วนแบ่งของการผลิตที่ไม่เท่าเทียมกันในรูปของกำไรลง เพื่อเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นและลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อเพิ่มเวลาพักผ่อน เราเรียกร้องให้ในรัฐสภามีตัวแทนของแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆเข้าไปกำหนดความเท่าเทียมในเรื่องเศรษฐกิจ ใครจะเสียอำนาจ ใครจะได้ประโยชน์ นี่คงเป็นเพียงเหตุเล็กๆน้อยๆที่พยายามทำความเข้าใจว่าทำไม่ชนชั้นปกครองจึงพยายามจะควบคุมพฤติกรรม กล่อมเกลาความคิด ความเชื่อของเราผ่านสถาบันทางสังคมต่างๆ ในรูปแบบกฎ ระเบียบ และความเชื่อ โดยที่เราไม่เคยมีส่วนในการออกแบบกฎระเบีบบและความเชื่อเหล่านั้นเลย นอกจากการถูกบังคับให้ปฎิบัติตาม เมื่อเราปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และความเชื่อเหล่านั้น ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กเกเรมีปัญหา ขาดความอบอุ่น คบเพื่อนไม่ดี หรืออื่นๆอีกหลายข้อกล่าวหา

แต่ตอนนี้เราลองมาสำรวจกันดูซิว่าเสรีภาพที่คนรุ่นก่อนพยายามสร้างขึ้นมานั้นมันอยู่ที่ไหนกัน เราสัมผัสมันได้มากน้อยเพียงใด มันมีอยู่จริงรึเปล่าในปัจจุบัน หรือว่าตอนนี้มันถูกทำให้กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่พรั่งพรูออกจากปากของพวกผู้นำชนชั้นปกครองในตอนนี้เท่านั้น โดยที่เราสูญเสียรูปธรรมของเสรีภาพไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว การสำรวจของเราคงเริ่มต้นจากสถาบันที่เล็กที่สุดก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับสถาบันที่ใหญ่กว่าต่อไป ซึ่งเสรีภาพมันอาจจะอยู่ตรงไหนสักที่หนึ่ง ที่ที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็เป็นได้ หรือว่าเราคิดมากเกินไป เสรีภาพอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือหายไปไหน

ครอบครัว สถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด เรามีเสรีภาพและสามารถออกแบบกติกาต่างๆในครอบครัวของเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าวันหนึ่งเราบอกกับครอบครัวว่า เราจะเรียนปรัชญา เรียนเขียนรูป หรือไม่เรียนอะไรเลย และเรามีแฟนที่จะแต่งงานกันเร็วๆนี้ แต่แค่นี้ยังสะใจไม่พอเพราะคนรักของเราอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อหรือแม่ นอกจากนั้นคนรักของเราก็เป็น เกย์ กระเทย ทอม ดี้ อีกด้วย จะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อมันเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล โดยที่เราก็ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นด้วย หรือถ้าเราประกาศว่าจะไม่ยอมนับถือศาสนาเพราะเราเป็นคนดีอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องคอยให้ใครมาบอก ครอบครัวจะยอมรับได้หรือไม่ เราจะถูกกดดันหรือไม่ ถ้าครอบครัวไม่ยอมรับเราจะทำอย่างไร นั่นคือคำตอบ เราจะขบถ โดยการโต้เถียงไม่เชื่อฟัง ออกจากบ้าน อยู่กับเพื่อน หรืออื่นๆ เพื่อเป็นการต่อสู้ปกป้องพื้นที่สิทธิและเสรีภาพที่กำลังถูกละเมิดจากคนในครอบครัวที่มีอำนาจมากกว่าเรา เหตุผลคงไม่ใช่เพราะเขาเป็นพ่อแม่ แต่เป็นเพราะเขามีเงินและเราก็ต้องพึ่งพาเงินจากเขา แต่ถ้าเรามาลองจินตนาการกันเล่นๆซิว่า ถ้าตั้งแต่เราเกิดมารัฐก็จะรับเลี้ยงดูเรามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สุขภาพ หางานให้ทำเพื่อนำมูลค่าแรงงานที่เราสร้างขึ้นไปใช้ดูแลคนรุ่นก่อนหน้าเราที่สร้างผลผลิตไว้ให้เราบริโภคและคนรุ่นต่อไปที่ยังไม่สามารถทำงานได้ นอกจากนั้นการที่เราได้รับการดูแลจากคนรุ่นต่อไปเช่นเดียวกับที่เราดูแลคนรุ่นก่อนหน้าเรา คนรุ่นใหม่ในสังคมก็จะเป็นลูกหลานเราทุกคนและเขาก็จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันให้เกียรติกัน เนื่องจากต้องร่วมมือกันทำงานสร้างสรรค์ผลผลิตเพื่อสังคม มิใช่แข็งขันแย่งชิงกดคนอื่นลงเป็นเพียงเครื่องจักรเพื่อตัวเองดังเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน

โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เรายังถูกบังคับให้แต่งชุดนักศึกษาอยู่รึเปล่า เรามีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงได้หรือยัง ในคณะผู้บริหารสถาบันมีเพื่อนเราที่ถูกเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพวกเราอยู่ในนั้นหรือไม่ กฎ ระเบียบต่างๆ ที่สถาบันของเราออกมาบังคับใช้ เรามีส่วนร่วมเสนอแนะออกความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีเลย ยังมีการคลานเข่าที่เป็นวัฒนธรรมยุคทาสเข้าไปหาครูอาจารย์โดยที่ครูอาจารย์ยังเป็นผู้รู้มากไม่ยอมรับข้อถกเถียงของเราอยู่รึเปล่า ถ้ายังมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาแห่งใดย่อมหมายถึงไม่มีประชาธิปไตยในสถาบันแห่งนั้น เพราะไม่ว่าสังคมใดๆก็แล้วแต่มนุษย์ที่สังกัดในสังคมนั้นๆย่อมมีสิทธิและเสรีภาพทุกเรื่องเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ตราบใดที่สิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น

เราคงไม่ต้องสรุปว่าปัจจุบันเรามีเสรีภาพจริงหรือไม่ เพราะทุกคนคงมีข้อสรุปในใจเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องสรุปคือสิทธิและเสรีภาพที่ได้มาทุกครั้งล้วนมาจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว โดยเริ่มการขบถเล็กๆน้อยๆเพื่อเรียนรู้และนำไปสู่การรวมตัวกันต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม ไปสู่ความถาวรของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น: