28/10/50

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ม.นอกระบบ กับ กลไกตลาด

วัฒนะ วรรณ

นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการหรือที่เรียกกันติดปากว่า ม.นอกระบบ กับ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน สองนโยบายที่มีการพูดถึงกันมากในหลายปีที่ผ่านมามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร? ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนยากคนจนจะมีมากน้อยแค่ไหน? และทำไมนโยบายเหล่านี้จึงเกิดขึ้น?

สองนโยบายที่พูดถึงมีที่มาจากแนวคิดเดียวกัน คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดเสรีของระบบทุนนิยม มองว่ากลไกตลาดคือทางออกสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง กลไกตลาดเป็นเครืองมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆของสังคมที่ดีที่สุด และคำว่าประสิทธิภาพก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถใช้เป็นบทพิสูจน์ได้แล้วว่า “กลไกตลาด” ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่และมีแนวโน้มที่จะยากจนเพิ่มขึ้น

ในเมื่อกลไกลตลาดมีปัญหาทำไมรัฐบาลที่ชอบอ้างถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จึงพยายามนำมาใช้ในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมากอยู่แล้วในขณะนี้

คำตอบคือ กลไกตลาดมีปัญหากับคนส่วนใหญ่จริง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีประโยชน์สำหรับนายทุนที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม เพราะสามารถสร้างความร่ำรวยให้กับนายทุนที่เอาตัวรอดจากการแข่งขันได้ จนทำให้มีนายทุนไทยติดอันดับต้นๆของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกหลายคน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นนายทุนกลุ่มใดหรือคนใดในรัฐบาลออกมาคัดค้านนโยบายนี้ นอกจากนายทุนบางส่วนที่อยู่คนละฟากกับรัฐบาล แต่เหตุผลในการคัดค้านของนายทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนจน แต่ยืนอยู่บนเหตุผลที่ตนเองไม่ได้ผลประโยชน์เสียมากกว่า

ดังนั้นรูปธรรมของคนพวกนี้จึงไม่มีการเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน เช่น การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าจากคนรวย การเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน คัดค้านสงครามหรือคัดค้านแนวคิดเสรีนิยม

คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในความหมายของระบบทุนนิยมก็คือเน้นกำไรสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากประสิทธิภาพของระบบสังคมนิยมที่เน้นการบริการคนส่วนใหญ่ที่ยากจน ประสิทธิภาพที่เน้นกำไรสูงสุดในรูปธรรมย่อมหมายถึง การพยายามลดต้นทุนทางการผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นลูกจ้างและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะต้องถูกลดจำนวนลง และคนที่เหลือต้องทำงานมากขึ้น ตัดการบริการบางอย่างที่ไม่สร้างกำไร และเพิ่มค่าบริการ วิชาที่มีคนเรียนน้อยแต่มีประโยชน์กับสังคมจะถูกตัดออกไป เช่น ปรัชญา การเมืองฝ่ายซ้าย วรรณคดีไทย ฟิซิกส์แนวทฤษฏี ฯลฯ พร้อมกันนั้นต้องมีการเพิ่มวิชาบริหารธุรกิจ วิชาที่จบง่ายๆ หรือวิชาไร้สาระที่ขายได้ เช่นกอลฟ์สำหรับ C.E.O. (มีในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย!!) และจะต้องมีการเพิ่มค่าเทอม

บทสรุปจากการนำมหาวิทยาลัยเกี่ยวเข้ากับกลไกตลาดจากประเทศตะวันตกคือ สัดส่วนนักศึกษาจากครอบครัวกรรมาชีพลดลง เพราะต้นทุนการเรียนสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการอ้างว่าจะมีทุนพิเศษให้คนจน –ซึ่งไม่เคยเพียงพอ

เหตุผลที่กลไกตลาดไร้ประสิทธิภาพเพราะมองเพียงแค่อำนาจชื้อในปัจจุบัน และไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตในอนาคต โดยไม่มีการวางแผนการผลิต จึงนำมาสู่ปัญหาสองข้อที่เกิดขึ้นเป็นประจำในระบบทุนนิยม

ข้อแรก การมองเพียงอำนาจชื้อไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินซื้อสินค้าและบริการ

ข้อสอง การที่ต้องดูความต้องการในปัจจุบันและทำการผลิตในอนาคตโดยใช้กลไกตลาด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิต เอกชนที่แสวงหากำไรสูงสุดจะแข่งขันกันผลิตสินค้าและบริการ จนนำไปสู่ผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการ กำไรก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะระบบทุนนิยมไม่มีการวางแผนการผลิต ไม่มีการวางแผนว่าสังคมต้องการอะไร จำนวนเท่าไร และจะผลิตกันอย่างไร ทุกอย่างในกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมถูกกำหนดโดยกลไกตลาด

ตัวอย่างความล้มเหลวของกลไกตลาดมีมากมาย เช่น วิกฤตการผลิตล้นเกินที่ทำให้เศรษฐกิจเอเซียพังในปี 1997 การที่ไฟฟ้าดับในรัฐ California การที่รถไฟอังกฤษไม่มีความปลอดภัย หรือสภาพจราจรในกรุงเทพฯ…

เหตุผลสำคัญที่นักเสรีนิยมส่วนใหญ่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะเขามองว่านโยบายเหล่านี้สามารถลดบทบาทและภาระของรัฐในเรื่องการบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา การลดงบประมาณด้านการศึกษาร่วมถึงการบริการอื่นๆที่จัดให้กับคนจน จะช่วยให้ธุรกิจเอกชนไทยฟื้นตัว เพราะจะทำให้รัฐลดการเก็บภาษีจากเอกชน และรัฐจะได้ไม่แย่งกู้เงินกับเอกชนซึ่งอาจช่วยให้เอกชนกู้เงินได้ง่ายขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย ดังนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขายให้เอกชน กระทำไปเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนรวยเป็นหลัก นี่คือความหมายแท้ของคำขวัญที่บอกว่า “รัฐต้องสร้างวินัยทางการเงิน”

จริงๆ แล้วภายใต้ระบบทุนนิยมการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลากโลกนักเสรีนิยมจึงไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียรายได้จากการลดงบประมาณรัฐ ดังนั้นเราจึงได้ยินคนที่สนับสนุนนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบพูดถึงความสามารถของมหาวิทยาลัยที่หารายได้เองมาทดแทนส่วนที่ลดงบประมาณจากรัฐและนี้คือความหวังของพวกเสรีนิยมที่สนับสนุนนโยนบายนี้ (รัฐไทยต้องการลดภาระในงบประมาณมหาวิทยาลัยถึง 50%) การหารายได้เสริมดังกล่าวจะมาจากการเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้นและ การรับเหมาทำการวิจัย หรือการขายวิชาและปริญญา ซึ่งในที่สุดมีผลในการทำลายมาตรฐานทางวิชาการสำหรับสังคมทั่วไปอยู่ดี

นอกจากการลดภาระภาษีแล้ว นักเสรีนิยมมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องการแปรรูปสถาบันรัฐ (ยกเว้นกองทัพ) ในเรื่องของการบริหารบุคคล นักเสรีนิยมต้องการตลาดแรงงานที่มีความ “คล่องตัว” เพราะเขามองว่าการซื้อแรงงาน “อย่างเสรีและคล่องตัว” โดยนายจ้างจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ทั้งหมดนี้หมายความว่าเขาไม่ต้องการกฎเกณฑ์ใดๆ ที่เป็นอุปสรรคในการปลดคนออก โยกย้ายตำแหน่ง หรือให้คุณให้โทษ ดังนั้นวิธีบริหารต้องเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินให้กับผู้บริหารระดับสูง ต้องไม่มีสหภาพแรงงาน ต้องลดจำนวนลูกจ้าง และงานใดเปลี่ยนเป็นการรับเหมาช่วงในราคาถูกก็ควรทำ

ทั้งหมดนี้คือคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องคัดค้านนโยบาย “เสรีนิยม” คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

หนี…ตาย

วัฒนะ วรรณ

คุณเคยคิดจะฆ่าตัวตายไหม! ผมเคย และถ้าคุณไม่เคย ผมจะเล่าให้คุณฟัง เมื่อคุณเริ่มคิดที่จะฆ่าตัวตาย คุณจะได้สัมผัสกับความรู้สึกที่วิเศษที่สุดนับตั้งแต่คุณเริ่มมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ มันเหมือนกับการยกก้อนหินที่ใหญ่และหนักมาก ออกจากหัวของคุณ คุณจะเริ่มรู้สึกถึงความสบาย โลกทั้งใบกำลังจะหยุดนิ่ง ทุกสิ่งรอบตัวกำลังจะหยุดเคลื่อนไหว ไม่ต้องคิดถึงอะไร อดีต ปัจจุบันหรืออนาคต ไม่ต้องกังวลถึงความหิว ความอบอุ่น ความรัก การเรียนที่น่าเบื่อ การทำงานที่ทำให้มนุษย์เป็นเครื่องจักร คุณจะว่างเปล่า ล่องลอย ไร้ตัวตน หลุดพ้น และคุณกำลังจะหนี….ใช่ ! คุณเข้าใจไม่ผิด คุณกำลังจะหนี

หลายคนที่คุณเคยเดินผ่านตามท้องถนน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย หลายคนที่คุณรู้จัก เคยรู้จัก พูดคุยกัน สนิทกัน รักกัน หรือว่าคนที่นั่งอยู่ข้างๆคุณตอนนี้ ลองถามเขาดูซิ

ผมเชื่อว่าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตของหลายๆคน เคยคิดที่จะหนี รวมทั้งผมด้วย แล้วทำไมมนุษย์หลายคนบนโลกใบนี้ถึงคิดจะหนี ทั้งๆที่มีคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับความรื่นรมย์ ความสวยงามและความน่าอยู่ของโลกใบนี้ โลกที่พวกเราอาศัยอยู่แต่ไม่สามารถออกแบบมันได้ ซึ่งมันควรจะเป็นหน้าที่ของเรา

อย่างนั้นเราก็ถูกหลอกใช่ไหม ถึงความสวยงามของโลกใบนี้ เพราะหลายคนคิดที่จะหนีจากโลกใบนี้ ผมก็ตอบไม่ได้

บางครั้งผมก็รู้สึกดีกับโลกใบนี้ถ้าผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำโดยมันไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่ในหลายครั้งผมก็รู้สึกเซ็งกับโลกเน่าๆใบนี้ โลกที่เราต้องอยู่ในความควบคุมของคนบางกลุ่มตลอดเวลา และก็หลอกลวงเราว่าถ้าเราเชื่องโลกนี้ก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าคุณเปิดทีวี หรือเดินออกมาจากบ้าน คุณเจออะไร ขอทาน เด็กเร่ร่อน คนคุ้นขยะ ความหิว คนไร้บ้าน ความอบอุ่น อาชญากรรม สงคราม เลือด ความไม่ปลอดภัย รวมถึงการเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อจะจบออกไปทำงานที่น่าเบื่อ และก็มีปีศาจคอยกระซิที่ข้างหูคุณอยู่ตลอดเวลาว่า “ เจ้ามนุษย์ที่โง่เขลาพวกเจ้าจะต้องทำงานที่น่าเบื่อให้หนักขึ้นกว่าเดิม และพวกชนชั้นนายทุนอย่างพวกข้าจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ “

ใช่…โลกที่น่าจะสวยงามใบนี้เต็มไปด้วยขยะมากมาย ขยะที่พวกเราไม่เคยสร้าง พวกเราสร้างอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค ศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้สวยงามและก็น่าอยู่ แต่พวกเรากับไม่เคยได้เสพมันเสพสิ่งที่พวกเราสร้าง เพราะพวกปีศาจจะขโมยมันไปและทิ้งขยะไว้ให้กับพวกเรา

คุณคงพอที่จะเข้าใจบ้างแล้วซินะ ว่าทำไมถึงมีมนุษย์หลายคนที่คิดจะหนีจากโลกใบนี้ หลายคนหนีได้สำเร็จ แต่อีกหลายคนก็หยุดก้าวสุดท้ายของการหนีไว้แค่เพียงความคิด และพยายามเดินฝ่ากองขยะออกไปซึ่งไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ ณ ที่แห่งใด แต่ก็เดินต่อไป…ต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตสู่ปัจจุบัน และจากปัจจุบันสู่อนาคต หรือว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องหยุดเดิน และมาจับมือกันช่วยกันกวาดขยะเพื่อโลกใบใหม่ ที่สวยงามกว่าโลกใบนี้

ไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จงสู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
จับมือไว้แล้วก้าวเดินไป สู่จุดหมายด้วยใจของเรา
ร่วมฝ่าฟัน…เดินไป เพื่อโลกใหม่ที่งดงาม