วัฒนะ วรรณ
นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการหรือที่เรียกกันติดปากว่า ม.นอกระบบ กับ นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน สองนโยบายที่มีการพูดถึงกันมากในหลายปีที่ผ่านมามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร? ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนยากคนจนจะมีมากน้อยแค่ไหน? และทำไมนโยบายเหล่านี้จึงเกิดขึ้น?
สองนโยบายที่พูดถึงมีที่มาจากแนวคิดเดียวกัน คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) ที่คลั่งกลไกตลาดเสรีของระบบทุนนิยม มองว่ากลไกตลาดคือทางออกสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง กลไกตลาดเป็นเครืองมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆของสังคมที่ดีที่สุด และคำว่าประสิทธิภาพก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถใช้เป็นบทพิสูจน์ได้แล้วว่า “กลไกตลาด” ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่และมีแนวโน้มที่จะยากจนเพิ่มขึ้น
ในเมื่อกลไกลตลาดมีปัญหาทำไมรัฐบาลที่ชอบอ้างถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จึงพยายามนำมาใช้ในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมากอยู่แล้วในขณะนี้
คำตอบคือ กลไกตลาดมีปัญหากับคนส่วนใหญ่จริง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีประโยชน์สำหรับนายทุนที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม เพราะสามารถสร้างความร่ำรวยให้กับนายทุนที่เอาตัวรอดจากการแข่งขันได้ จนทำให้มีนายทุนไทยติดอันดับต้นๆของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกหลายคน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นนายทุนกลุ่มใดหรือคนใดในรัฐบาลออกมาคัดค้านนโยบายนี้ นอกจากนายทุนบางส่วนที่อยู่คนละฟากกับรัฐบาล แต่เหตุผลในการคัดค้านของนายทุนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนจน แต่ยืนอยู่บนเหตุผลที่ตนเองไม่ได้ผลประโยชน์เสียมากกว่า
ดังนั้นรูปธรรมของคนพวกนี้จึงไม่มีการเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน เช่น การเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าจากคนรวย การเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน คัดค้านสงครามหรือคัดค้านแนวคิดเสรีนิยม
คำว่า “ประสิทธิภาพ” ในความหมายของระบบทุนนิยมก็คือเน้นกำไรสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากประสิทธิภาพของระบบสังคมนิยมที่เน้นการบริการคนส่วนใหญ่ที่ยากจน ประสิทธิภาพที่เน้นกำไรสูงสุดในรูปธรรมย่อมหมายถึง การพยายามลดต้นทุนทางการผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด เพราะฉะนั้นลูกจ้างและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะต้องถูกลดจำนวนลง และคนที่เหลือต้องทำงานมากขึ้น ตัดการบริการบางอย่างที่ไม่สร้างกำไร และเพิ่มค่าบริการ วิชาที่มีคนเรียนน้อยแต่มีประโยชน์กับสังคมจะถูกตัดออกไป เช่น ปรัชญา การเมืองฝ่ายซ้าย วรรณคดีไทย ฟิซิกส์แนวทฤษฏี ฯลฯ พร้อมกันนั้นต้องมีการเพิ่มวิชาบริหารธุรกิจ วิชาที่จบง่ายๆ หรือวิชาไร้สาระที่ขายได้ เช่นกอลฟ์สำหรับ C.E.O. (มีในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลีย!!) และจะต้องมีการเพิ่มค่าเทอม
บทสรุปจากการนำมหาวิทยาลัยเกี่ยวเข้ากับกลไกตลาดจากประเทศตะวันตกคือ สัดส่วนนักศึกษาจากครอบครัวกรรมาชีพลดลง เพราะต้นทุนการเรียนสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการอ้างว่าจะมีทุนพิเศษให้คนจน –ซึ่งไม่เคยเพียงพอ
เหตุผลที่กลไกตลาดไร้ประสิทธิภาพเพราะมองเพียงแค่อำนาจชื้อในปัจจุบัน และไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตในอนาคต โดยไม่มีการวางแผนการผลิต จึงนำมาสู่ปัญหาสองข้อที่เกิดขึ้นเป็นประจำในระบบทุนนิยม
ข้อแรก การมองเพียงอำนาจชื้อไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินซื้อสินค้าและบริการ
ข้อสอง การที่ต้องดูความต้องการในปัจจุบันและทำการผลิตในอนาคตโดยใช้กลไกตลาด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิต เอกชนที่แสวงหากำไรสูงสุดจะแข่งขันกันผลิตสินค้าและบริการ จนนำไปสู่ผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการ กำไรก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะระบบทุนนิยมไม่มีการวางแผนการผลิต ไม่มีการวางแผนว่าสังคมต้องการอะไร จำนวนเท่าไร และจะผลิตกันอย่างไร ทุกอย่างในกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมถูกกำหนดโดยกลไกตลาด
ตัวอย่างความล้มเหลวของกลไกตลาดมีมากมาย เช่น วิกฤตการผลิตล้นเกินที่ทำให้เศรษฐกิจเอเซียพังในปี 1997 การที่ไฟฟ้าดับในรัฐ California การที่รถไฟอังกฤษไม่มีความปลอดภัย หรือสภาพจราจรในกรุงเทพฯ…
เหตุผลสำคัญที่นักเสรีนิยมส่วนใหญ่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะเขามองว่านโยบายเหล่านี้สามารถลดบทบาทและภาระของรัฐในเรื่องการบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา การลดงบประมาณด้านการศึกษาร่วมถึงการบริการอื่นๆที่จัดให้กับคนจน จะช่วยให้ธุรกิจเอกชนไทยฟื้นตัว เพราะจะทำให้รัฐลดการเก็บภาษีจากเอกชน และรัฐจะได้ไม่แย่งกู้เงินกับเอกชนซึ่งอาจช่วยให้เอกชนกู้เงินได้ง่ายขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย ดังนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขายให้เอกชน กระทำไปเพื่อลดภาระงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนและคนรวยเป็นหลัก นี่คือความหมายแท้ของคำขวัญที่บอกว่า “รัฐต้องสร้างวินัยทางการเงิน”
จริงๆ แล้วภายใต้ระบบทุนนิยมการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลากโลกนักเสรีนิยมจึงไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียรายได้จากการลดงบประมาณรัฐ ดังนั้นเราจึงได้ยินคนที่สนับสนุนนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบพูดถึงความสามารถของมหาวิทยาลัยที่หารายได้เองมาทดแทนส่วนที่ลดงบประมาณจากรัฐและนี้คือความหวังของพวกเสรีนิยมที่สนับสนุนนโยนบายนี้ (รัฐไทยต้องการลดภาระในงบประมาณมหาวิทยาลัยถึง 50%) การหารายได้เสริมดังกล่าวจะมาจากการเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้นและ การรับเหมาทำการวิจัย หรือการขายวิชาและปริญญา ซึ่งในที่สุดมีผลในการทำลายมาตรฐานทางวิชาการสำหรับสังคมทั่วไปอยู่ดี
นอกจากการลดภาระภาษีแล้ว นักเสรีนิยมมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ต้องการแปรรูปสถาบันรัฐ (ยกเว้นกองทัพ) ในเรื่องของการบริหารบุคคล นักเสรีนิยมต้องการตลาดแรงงานที่มีความ “คล่องตัว” เพราะเขามองว่าการซื้อแรงงาน “อย่างเสรีและคล่องตัว” โดยนายจ้างจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ทั้งหมดนี้หมายความว่าเขาไม่ต้องการกฎเกณฑ์ใดๆ ที่เป็นอุปสรรคในการปลดคนออก โยกย้ายตำแหน่ง หรือให้คุณให้โทษ ดังนั้นวิธีบริหารต้องเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินให้กับผู้บริหารระดับสูง ต้องไม่มีสหภาพแรงงาน ต้องลดจำนวนลูกจ้าง และงานใดเปลี่ยนเป็นการรับเหมาช่วงในราคาถูกก็ควรทำ
ทั้งหมดนี้คือคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องคัดค้านนโยบาย “เสรีนิยม” คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ
28/10/50
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น