27/3/51

การต่อสู้ของเรา การเมืองที่อิสระ

วัฒนะ วรรณ

ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทบรรณาธิการอยู่เหตุการณ์ทาการเมืองของประเทศไทยหลายๆอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ร่วมถึงเหตุการณ์ในต่างประเทศด้วย เหตุการณ์แรกที่คงจะเป็นเรื่องการชุมนุมของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อ(รัฐประหาร)ประชาธิปไตย” แน่นอนหลายคนที่ติดตามข่าวคราวทางการเมืองคงเดากันไม่ยากว่าการชุมนุมครั้งนี้คงเป็นการชุมนุมเพื่อเช็คกระแสความนิยมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่นั่นอาจจะไม่ใช้ประเด็นสำคัญเท่ากับความน่าละอายใจของผู้นำภาคประชาชนที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯที่สร้างความเลวร้าย ตกต่ำให้กับภาคประชาชนไทย โดยการพาภาคประชาชนไปหมอบคลานให้กับระบอบเผด็จการ ร่วมถึงยังมองว่าประชาชนโง่ที่ยังไปเลือกพรรคพลังประชาชนอยู่ แต่ไม่เคยเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนเลย สิ่งเหล่านี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ภาคประชาชนแสดงออกด้วยการไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และเรียกร้องการเมืองอิสระของภาคประชาชน ดังเช่นคำประกาศของสมัชชาคนจน ในงานวันครบรอบ 100 วันของพี่มด วนิดา ที่ผ่านมา

ส่วนอีกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำเสนอโดยพรรครัฐบาล แน่นอนเราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมถึงยกเลิกกฎหมายที่มาจากเผด็จการทั้งหมด แต่เราไม่สามารถฝากความหวังการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้กับพรรคการเมืองน้ำเน่าทั้งหลายได้ ภาคประชาชนต้องกล้าหาญนำเสนอรัฐธรรมนูญของตนเองอย่างเป็นอิสระเพื่อกดดันพรรคการเมืองเหล่านั้น นี่ถึงจะเป็นการทางออกที่แท้จริง และที่สำคัญเราจะต้องไม่ลืมว่าภาคประชาชนเคยรวมตัวกันเพื่อจัดทำข้อเสนอรัฐธรรมนูญ ในเวที “ไทยพูด” ข้อเสนอเหล่านั้นต้องถูกนำมาขยายและรณรงค์กันอีกครั้ง เพราะเป็นการสร้างการเมืองประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนเอง

และเรื่องสุดท้ายที่อยากจะชวนทุกคนได้ติดตามและสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องผู้ถูกกดขี่ในทิเบต ที่กล้าหาญออกประท้วงความโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการจีน เราจะต้องไม่ปล่อยให้เพื่อนเราโดดเดี่ยวในการต่อสู้เพราะนี่เป็นการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมจีนที่กดขี่ประชาชนตลอดมา ร่วมถึงการต่อสู้ของพี่น้องในอิรัค ปาเลสไตน์ เลบานอน และอียิปต์ การต่อสู้เหล่านี้เป็นการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เป็นการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาและหมาบ้าอิสราเอล เป็นการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ เป็นการต่อสู้ของคนจน เป็นการต่อสู้ของพวกเรา

ปฏิวัติ ผู้นำภาคประชาชน กันเถอะ

วัฒนะ วรรณ

จากวิกตฤการเมืองของสังคมไทยรอบที่ผ่านมา ส่งผลให้ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นความอ่อนแอของรัฐบาลนายทุนแต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอตามไปด้วย ความอ่อนแอของภาคประชาชนเป็นผลโดยตรงจากการขาดความเชื่อมั่นในพลังภาคประชาชนของผู้นำ ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับคำพูดของพวกเขาเหล่านั้นที่ชอบประกาศออกมาว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องกระทำโดยประชาชนเอง

เริ่มต้นแห่งความผิดพลาดเกิดจากการเข้าร่วมจับมือกับนายทุนขนาดเล็กอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อล้มนายทุนขนาดใหญ่ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร บวกกับการพยายามเชิดชูเจ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจนนำไปสู่การเสนอมาตรา 7 มอบอำนาจให้กับกษัตริย์ โดยมองข้ามกระบวนการประชาธิปไตยไปอย่างไร้ยางอาย แค่นี้ยังไม่พอเพราะมีการสนับสนุนรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 และรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ กันอย่างออกหน้าออกตา และล่าสุดการเสนอตัวเข้าไปเป็น สว. ระบบสรรหา ซึ่งก็ถูกเขี่ยตกกระป๋องกันเป็นทิวแถว

จากที่กล่าวมามีอะไรบ้างที่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่เลย ไม่มีเลย มีแต่สิ่งตรงข้ามคือผู้นำเหล่านี้ไปเพิ่มความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการกดขี่ ข่มเหง รังแก ประชาชน แล้วเรามีทางออกอะไรบ้าง

แน่นอนผู้นำเหล่านี้ยากที่จะกลับมายืนเคียงข้างประชาชนด้วยความจริงใจอีกครั้ง นับวันพวกเขาก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าประชาชนจะเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อมีการประทานพรโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเขาจะห่างจากประชาชนมากขึ้นและก็จะขยับใกล้ชิดกับชนชั้นนำมากขึ้นตราบเท่าที่จะไม่ถูกเขี่ยออกมาอีก ทางออกของภาคประชาชนต่อไปนี้จะต้องไม่เรียกร้องกับผู้นำภาคประชาชนเหล่านี้อีกต่อไป แต่ต้องเรียกร้องคนรุ่นใหม่ในภาคประชาชน ให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติพวกผู้นำน้ำเน่าที่ไม่เคยเชื่อมั่นในพลังของประชาชน เพื่อสร้างการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ และมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง