วัฒนะ วรรณ
จากวิกตฤการเมืองของสังคมไทยรอบที่ผ่านมา ส่งผลให้ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นความอ่อนแอของรัฐบาลนายทุนแต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอตามไปด้วย ความอ่อนแอของภาคประชาชนเป็นผลโดยตรงจากการขาดความเชื่อมั่นในพลังภาคประชาชนของผู้นำ ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับคำพูดของพวกเขาเหล่านั้นที่ชอบประกาศออกมาว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องกระทำโดยประชาชนเอง
เริ่มต้นแห่งความผิดพลาดเกิดจากการเข้าร่วมจับมือกับนายทุนขนาดเล็กอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อล้มนายทุนขนาดใหญ่ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร บวกกับการพยายามเชิดชูเจ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจนนำไปสู่การเสนอมาตรา 7 มอบอำนาจให้กับกษัตริย์ โดยมองข้ามกระบวนการประชาธิปไตยไปอย่างไร้ยางอาย แค่นี้ยังไม่พอเพราะมีการสนับสนุนรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 และรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ กันอย่างออกหน้าออกตา และล่าสุดการเสนอตัวเข้าไปเป็น สว. ระบบสรรหา ซึ่งก็ถูกเขี่ยตกกระป๋องกันเป็นทิวแถว
จากที่กล่าวมามีอะไรบ้างที่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่เลย ไม่มีเลย มีแต่สิ่งตรงข้ามคือผู้นำเหล่านี้ไปเพิ่มความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการกดขี่ ข่มเหง รังแก ประชาชน แล้วเรามีทางออกอะไรบ้าง
แน่นอนผู้นำเหล่านี้ยากที่จะกลับมายืนเคียงข้างประชาชนด้วยความจริงใจอีกครั้ง นับวันพวกเขาก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าประชาชนจะเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อมีการประทานพรโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเขาจะห่างจากประชาชนมากขึ้นและก็จะขยับใกล้ชิดกับชนชั้นนำมากขึ้นตราบเท่าที่จะไม่ถูกเขี่ยออกมาอีก ทางออกของภาคประชาชนต่อไปนี้จะต้องไม่เรียกร้องกับผู้นำภาคประชาชนเหล่านี้อีกต่อไป แต่ต้องเรียกร้องคนรุ่นใหม่ในภาคประชาชน ให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติพวกผู้นำน้ำเน่าที่ไม่เคยเชื่อมั่นในพลังของประชาชน เพื่อสร้างการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ และมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง
27/3/51
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น