7/11/50

คนหนุ่มสาวสร้างพรรคการเมืองระดับชาติได้หรือไม่

วัฒนะ วรรณ

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเลือกตั้ง การหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงเติม เสริม แต่ง สีสันให้กับสังคมไทยในตอนนี้ได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวคำปราศรัยด้วยวาทศิลป์ชวนฟัง หรือจะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งตีพิมพ์ แต่ก็มีคำถามมากมายเกี่ยวกับนโยบายและรูปแบบการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองเหล่านั้น ว่าจำเป็นแค่ใหนที่จะต้องนำงบประมาณจำนวนมากมายมาใช้หาเสียงแทนที่จะนำงบประมาณเหล่านั้นไปเพิ่มสวัสดิการให้กับสังคม(จะได้ไม่ต้องแปรรูปมหาลัย) หรือจะกลัวว่าประชาชนจะไม่เชื่อ เหตุผลเดียวที่ทำให้ไม่เชื่อ คือไม่ไว้ใจ และทำไมถึงไม่ไว้ใจ คำถามนี้คงตอบได้ไม่อยากเพราะว่าตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินที่เรียกว่าดินแดน(กรงขัง)ขวานทอง มีพรรคการเมืองสักกี่พรรคที่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เราคงต้องคิดกันนานหน่อยและถ้าเป็นนโยบายที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่แล้วล่ะก้อ! คงคิดกันไม่ออก

แต่อีกด้านหนึ่งหลายคนก็ยังคงตั้งความหวังกับนโยบายการหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ถึงแม้จะไม่ค่อยมั่นใจว่านโยบายเหล่านั้นจะถูกนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่หลายคนยังหวังว่านโยบายหลายๆนโยบาย จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น ความยากจนจะถูกแก้ไขหรือทำให้มันบรรเทาลงบ้าง ความรุนแรงต่างๆก็คงจะหมดไป สิทธิเสรีภาพก็น่าจะมีมากขึ้น และอีกหลายๆ ความหวัง ถ้าเป็นเช่นนี้ความหวังของเราคงผูกติดกับนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ยอมทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้อะไรจะเกิดขึ้น ใช่! ทุกอย่างก็จบ เราจะทำอะไรได้นอกจากหวังต่อไป (หดหู่จัง) แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเต็มไปด้วยไฟแห่งการสร้างสรรค์และพร้อมจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม คงจะไม่ยอมให้ใครมาทำให้ผิดหวังได้ง่ายๆ

ดังนั้นตอนนี้เรามีสองคำถามที่จะต้องช่วยกันตอบ คือ ในเมื่อเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นพรรคของชนชั้นนายทุนเรายังจะคลาดหวังกับพรรคการเมืองเหล่านี้กันอีกต่อไปหรือไม่และจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นล่างจริงๆ

โฉมหน้าที่แท้จริงของพรรคนายทุน

ท่ามกลางการปลุกกระแสรักชาติ(รักไทย)ของรัฐบาลไทยรักไทยในปัจจุบันทำให้เราได้เห็นความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกับพรรคกับการเมืองที่มีอยู่ในสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน คงจะไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่สามารถทำให้ประชาชนล้มตายอย่างน่าสลดใจได้เท่ากับรัฐบาลไทยรักไทย ความรุนแรงถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ คำโกหกถูกพูดออกมาเหมือนกับว่าประชาชนเป็นคนโง่ เช่น คำโกหกที่บอกว่าการส่งทหารไทยไปประเทศอิรัคเพื่อช่วยฟื้นฟู แต่จากสภาพความเป็นจริงก็คือไปช่วยสหรัฐอเมริการุกรานอิรัค จนมีทหารเสียชีวิตสองนาย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของรัฐบาลไทยรักไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ถ้าถามว่าดีไหม คงต้องตอบว่าดี คนจนได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์ ถ้าถามต่อว่าพอไหม คำตอบก็คือ ไม่พอ ไทยรักไทยมีบุญคุณกับเราไหม ก็คงตอบว่าไม่มี

ทำไมถึงไม่พอ หลายคนคงสงสัย ก็ดูปัจจุบันซิ มีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ถ้าในสังคมยังมีคนรวยกับจนอยู่เราจะพอใจได้อย่างไร สวัสดิการเพียงน้อยนิดที่หยิบยื่นให้เราก็เป็นเพียงแค่เศษอาหารของพวกพรรคนายทุน เราต้องการมากกว่านี้

ทำไม่พรรคไทยรักไทยถึงไม่มีบุญคุณกับเราก็เพราะว่า รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนอยู่แล้ว โดยเงินที่นำมาใช้จัดสวัสดิการก็คือเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น คนที่เราควรจะมีบุญคุณด้วยก็คือคนที่ทำการผลิตผลผลิตต่างๆที่ให้เราบริโภค ถ้าไม่มีผลผลิตต่างๆที่ชาวนาและกรรมาชีพผลิต(แต่นายทุนมักจะอ้างกฎหมายกรรมสิทธิ์เพื่อยึดผลผลิตเป็นของตนเอง) เงินก็เป็นเพียงแค่เศษกระดาษกับตัวเลขทางบัญชี

พรรคนายทุนไม่เคยมีความจริงใจในการสร้างความเท่าเทียมและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดูจากตัวอย่างง่ายๆ ขณะที่พรรคไทยรักไทยมือข้างหนึ่งได้ยื่นเศษอาหารให้กับเรา มืออีกข้างก็จะตัดสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิยาลัยออกนอกระบบ ด้วยเหตุผลก็เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้กับกลุ่มทุน โดยไม่สนใจว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนจะแย่ลงหรือไม่ มันยุติธรรมแล้วหรือ!

นอกจากตัดสวัสดิการแล้วมือข้างเดียวกันยังถือปืนที่พร้อมจะใช้ เข่นฆ่า บังคับ ข่มขู่ ประชาชน จนทำให้บรรยากาศของสังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง จนดูราวเหมือนกับว่าความรุนแรงคือทางออกเดียวในการแก้ปัญหา แต่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนกับเราสองเรื่อง เรื่องแรก การใช้ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหาลดน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งเพิ่มปัญหาและสร้างความรุนแรงมากขึ้น สอง สิ่งที่ทำให้สังคมเราแยกออกจากสังคมยุคป่าเถื่อนก็คือ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ต้องการเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ เพราะมันทำให้อิทธิพลของเขาลดลง

นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายนี้มากกว่า 2500 ศพ ผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาผ่านกระบวนการยุติธรรมและถ้าคนเหล่านั้นมีความผิดจริงโทษก็ไม่ควรถึงขั้นต้องเสียชีวิต (เรามีสิทธิ์จะตัดสินให้คนอื่นควรมีชีวิตอยู่หรือว่าควรตายได้หรือไม่ ???) และคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาและหลายคนก็ยากจนด้วย ไม่เห็นจะมีพ่อค้ารายใหญ่ที่เป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงนักการเมืองบางคนถูกจับในการปราบปรามยาเสพติดครั้งนี้เลย หรือชีวิตคนจนมันไร้ค่า

การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ที่กรือเซะ จังหวัด ปัตตานี และท้องที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ฝ่ายประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีเพียงแค่ดาบติดมือหรือปืนเพียงหนึ่งหรือสองกระบอก รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงมากขนาดนั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์(อย่าลืมว่ารัฐมีหน้าที่สร้างความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม รัฐจึงไม่สามารถใช้ข้ออ้างความรุนแรงที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้นเพื่อตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน)

เหตุการณ์สลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมโดยสงบตามสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ผลจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ศพ 6 ศพ เสียชีวิตขณะสลายการชุมนุม และอีก 79 ศพ เสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง(หรือว่าบ้านนี้เมืองนี้กลายเป็นดินแดนป่าเถื่อนที่ไร้มนุษยธรรมกันแล้ว)

กรณีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมตามกรอบของกฎหมายในคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมผู้ต้องหามุสลิม ซึ่งปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกหนึ่งตัวอย่าง ดังนั้น เราจึงสามารถประกาศได้ว่ารัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศนี้แล้ว

นอกจากพรรครัฐบาลไทยรักไทยจะหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว พรรคฝ่ายค้านไทยก็ไร้น้ำยา ไม่มีพรรคฝ่ายค้านพรรคไหนยื่นอยู่ข้างประชาชน ไม่เห็นมีพรรคฝ่ายค้านพรรคใดออกมาคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การส่งทหารไทยไปตายที่อิรัค และประณามรัฐบาลกรณีใช่ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพึ่งพรรคการเมืองที่มีอยู่ในตอนนี้ได้อีกต่อไป

สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราได้พบเห็นความจริงจากบรรดาพรรคการเมืองนายทุน ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคนายทุนไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมหล้ำในสังคมให้หมดไป โดยดูได้จากปัจจุบันระดับความยากจนยังขยายวงกว้างออกไปอย่างหน้าใจหาย คนรวยรวยขึ้นทุกวันส่วนคนจนก็ยิ่งจนลงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประเทศไทยมีเศรษฐีก็มีเงินเป็นหมื่นๆล้าน แต่ก็มีคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ดินทำกิน ขาดโอกาสทางการศึกษา ค่าแรงไม่พอยังชีพและตกงานอยู่เป็นจำนวนมาก

คนรวยมีสิทธิเสรีภาพต่างๆมากมายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในบางครั้งสิทธิเสรีภาพของคนรวยยังดูเหมือนจะอยู่เหนือกรอบของกฎหมายเสียด้วยซ้ำ(หลายคนคงเคยพบเห็นมาบ้างในเรื่องนี้) แต่สำหรับคนจนสิทธิเสรีภาพไม่ต้องพูดถึงแค่จะมีชีวิตอยู่ไปแต่ละวันก็อยากแล้ว ดังคำที่ชาวมาร์กซิสเคยพูดไว้ว่า “สิทธิเสรีภาพการกินอาหารในโรงแรมชั้นหนึ่งจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน” หรือเราเกิดมาบนโลกคนละใบกัน

คำถามหนึ่งที่เราจะต้องตระโกนถามดังๆว่า ทำไมการเริ่มต้นชีวิตของมนุษย์เมื่อแรกเกิดจึงดูเท่าเทียมกัน แต่เมื่อเวลาเดินผ่านไปแต่ละวินาที ความห่างระหว่างชนชั้นก็เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้น ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติบทความชิ้นนี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลยและเราก็คงจะต้องทนอยู่ในสภาพสังคมที่เน่าแฟะ สภาพสังคมที่ไม่อนุญาตให้คุณลืมล็อกกุญแจเมื่อออกจากบ้าน สภาพสังคมที่ไม่รับประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคุณ นอกเสียจากคุณจะมีมือที่ยาวกว่าคนอื่น และนำมันมาใช้ในการขึ้นไปยืนบนหลังของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรามีทางเลือกอื่นอีกไหม!!

ถ้าเราเชื่อว่าสภาพสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์ เราก็มีความหวังเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้ เราสามารถทำให้ชนชั้นหมดไปจากโลกใบนี้ได้ เราทำให้สังคมเท่าเทียมกันได้ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เราสามารถสร้างโลกใบใหม่ที่สวยงามกว่านี้ได้

คนหนุ่มสาวคือความหวัง

ทำไมเราถึงมั่นใจในพลังของคนหนุ่มสาว ทำไมเราถึงเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาว ทำไมคนหนุ่มสาวคือความหวัง คำถามต่างๆเหล่านี้คงไม่สามารถใช้ความรู้สึกตอบได้ นอกจากประวัติศาสตร์และการลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันจากทั่วโลก นี่แหละคือคำตอบและความหวัง

ในประวัติศาสตร์เกิดอะไรขึ้นกับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น คนหนุ่มสาวสร้างความเจริญอะไรบ้างให้กับสังคมปัจจุบัน ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 นักศึกษาหัวก้าวหน้าได้เข้าไปจัดตั้งกลุ่มศึกษาร่วมกับกรรมกรในโรงงานและมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปฏิวัติรัสเซียจากการปกครองระบอบกษัตริย์ที่กดขี่ขูดรีด เพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบสังคมนิยมที่เท่าเทียม ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น 5 ปี การปฏิวัติจะล้มเหลวระบบสังคมนิยมไม่สามารถเกิดขึ้นได้(สหภาพโซเวียต จีน ลาว เวียตนาม คิวบาและเกาหลีเหนือไม่ใช่สังคมนิยม) แต่เราเรียนบทเรียนจากข้อผิดพลาดในอดีตได้ หรือจะเป็นนักศึกษาจีนที่ตั้งขบวนการกู้ชาติในปี 1911 นักศึกษาและกรรมาชีพวัยรุ่นที่ก่อกบฏในตะวันตกปี 1968 นักศึกษาและวัยรุ่นที่ล้มเผด็จการในอินโดนีเซีย ในเกาหลีใต้

ในประวัติศาสตร์ไทย 14 ตุลาคม 2516 พลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่กล้าลุกขึ้นมาล้มเผด็จที่ปกครองประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้อีก 3 ปีต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เราจะถูกปราบจนพ่ายแพ้ แต่พลังของคนหนุ่มสาวก็ไม่เคยเกรงกลัวหรือว่ายอมก้มหัวต่อความไม่เป็นธรรมและอำนาจเผด็จการใดๆ เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งของพลังนักศึกษาถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนกับอดีตแต่เราก็สู้จนเป็นฝ่ายชนะ นี่คือประวัติศาสตร์ ที่ทำให้มีความหวังในปัจจุบัน

ในปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นบนโลกบ้าง การประท้วงต่อต้านการทำสงครามของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกากับอังกฤษในประเทศอิรัค ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นการประท้วงของภาคประชาชนสากลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แค่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวก็ส่งผลให้แผนการครองโลกของจักรวรรดินิยมยักใหญ่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้แค่ประเด็นเดียวแคบๆ ที่พูดถึงแต่เพียงเรื่องสันติภาพเท่านั้น

การต่อสู้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นการต่อสู้ที่พัฒนามาจากการต่อสู้ของขบวนการต้านเสรีนิยมของกลุ่มทุน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการประชุม WTO ที่ Seattle ในปี 2542 และขยายใหญ่ไปเป็น “กระแสต้านทุนนิยม” หลังจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในการประท้วง G8, IMF, ADB, APEC ฯลฯ

ท่ามกลางวิกฤตแห่งศรัทธาในระบบทุนนิยมและกลไกตลาด จึงมีการก่อกบฏในหลายที่ของลาตินอเมริกา เช่น อาเจนตินา และ โบลิเวียร์ และในขณะเดียวกันขบวนการต่อต้านระบบทุนนิยมและกลไกตลาดก็พยายามหาทางออกใหม่โดยจัด เวทีสมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) เพื่อเป็นพื้นที่ถกเถียงกันของภาคประชาชนสากล

จากเหตุการณ์การประท้วง Seattle จนถึงปัจจุบัน เราคงต้องกล่าวว่าผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการต่อสู้ต่างๆ คือ คนหนุ่มสาว คือ นักเรียน คือ นักศึกษา คือ กรรมาชีพรุ่นใหม่

นอกจากฟื้นตัวการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในระดับสากลจะเกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทยเองขบวนการการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวกำลังถูกรื้อฟื้น ดูได้จากกระแสการต่อสู้การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการเกิดขึ้นของกลุ่มนักศึกษารักสันติภาพ ที่ไม่พอใจการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลไทยรักไทย แล้วเราจะทำอะไรกันต่อ!!!

พรรคการเมืองของคนหนุ่มสาวในอดีต

ในประวัติศาสตร์ ยุค 14 ตุลา 16 หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่นาน คนหนุ่มสาวในยุคนั้นเข้าใจดีว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเราจำเป็นจะต้องต่อสู้กับแนวคิดฝ่ายขวาแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กลัวการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะจะทำให้คนเหล่านี้สูญเสียผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่าง

ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งแนวคิดอย่างเป็นระบบของฝ่ายผู้ถูกกดขี่ โดยคนหนุ่มสาวในยุคนั้นได้เริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นระบบจากการตั้งพรรคฝ่ายซ้ายภายในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อต่อสู้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่น การต่อต้านระบบอาวุโส ยกเลิกการรับน้องแบบโซตัสเพราะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เปลี่ยนมาเป็นการรับเพื่อนใหม่ที่มีความเท่าเทียมกัน

นอกจากนั้นพรรคการเมืองของนักศึกษายังเชื่อมโยงการต่อสู้กับขบวนการภาคประชาชนอื่นๆภายนอกรั้วมหาวิยาลัย และที่สำคัญพรรคการเมืองก้าวหน้าของนักศึกษายังมีบทบาทสำคัญในพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายระดับชาติ เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

ตัวอย่างพรรคนักศึกษาฝ่ายซ้ายในอดีต ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ก่อตั้ง พรรคสัจธรรม เมื่อ พ. ศ. 2517 สามารถชนะการเลือกตั้งองค์การบริหารและสภานักศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 โดยมี มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม เป็นนายกองค์การ มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้ตั้งพรรคแนวร่วมมหิดล สมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ มหาวิทยาลัยศรีนรินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้มีการตั้งพรรคพลังและสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคนักศึกษาที่ก้าวหน้าชื่อ พรรคประชาธรรม สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เช่นกัน และในปี พ.ศ. 2519 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้รับเลือกเป็นนายกองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคนักศึกษาก้าวหน้าถูกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ชื่อพรรคจุฬาประชาชน และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2519 โดยมี เอนก เหล่าธรรมทัศ เป็นนายกสโมสร นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฐานที่มั่นของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายล้าหลัง พรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าคือพรรครวมพลังสามัคคี ก็ชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ยังมีการตั้งพรรคนักศึกษาก้าวหน้าในวิทยาลัยครูอีกหลายแห่ง สำหรับโรงเรียนมัธยมแม้จะไม่มีการตั้งพรรคการเมือง แต่กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าก็ขยายองค์กรของตนเองได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่าคนหนุ่มสาวกับการตั้งพรรคการเมืองก้าวหน้าเพื่อต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบกดขี่รูดรีดของชนชั้นปกครองชนชั้นนายทุน สามารถเกิดขึ้นได้ถึงแม้วันนี้ขบวนการนักศึกษาไม่เข้มแข็งเหมือนดังเช่นอดีตก็ตาม แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเราคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันไม่ควรมองข้าม คือก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาก็ไม่ได้เข้มแข็งมาก่อน เพราะฉนั้นในปัจจุบันขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าจะเข้มแข็งเหมือนอดีตก็ไม่ไช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยอมแพ้ก่อนที่จะสู้หรือไม่

พรรคก้าวหน้าของคนหนุ่มสาวปัจจุบันควรมีหน้าตาอย่างไร

ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยฝ่ายภาคประชาชนเคยมีชัยชนะ 2 ครั้ง คือช่วง 14 ตุลาคม 2516 และช่วง พฤษภาทมิฬ 2535 แต่เกิดอะไรขึ้น ทำไมชัยชนะของเราจึงดูเหมือนเป็นภาพลวงตา เราสัมผัสมันได้มากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ชัยชนะ 2 ครั้งของฝ่ายเราสามารถล้มผู้ปกครองเผด็จการที่กดขี่รูดรีดเราได้ แต่หลังจากนั้นเราก็โยนชัยชนะของเราให้กับผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่ดูเหมือนใจดี ที่พร้อมจะไม่กดขี่เรา แต่ปัจจุบันเราคงได้เรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์กันมากพอแล้ว การต่อสู้ในรอบใหม่เราต้องมุ่งที่จะยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชนโดยแท้จริง เราจะไม่โยนชัยชนะให้กับพรรคนายทุนหน้าไหนทั้งนั้น เพระพวกนายทุนไว้ใจไม่ได้ ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่ยอมอยู่แบบทาสการปลดโซ่ตรวนคือทางออกเดียวของเรา

เครื่องมือสำคัญในการปลดโซ่ตรวจ คือ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและเราควรมีจุดยืนร่วมกันดังนี้ ข้อแรก เราต้องคัดค้านเสรีนิยมของกลุ่มทุนและกลไกตลาด ข้อสอง เราต้องคัดค้านจักรวรรดินิยมและคัดค้านนายทุนในประเทศเราเอง ข้อสาม เราจะยืนอยู่เคียงข้างและสนับสนุนสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกกดขี่ ข้อสี่ เราต้องส่งเสริมเสรีภาพ สันติภาพ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ข้อห้า เราต้องส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียมกัน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

พรรคการเมืองที่เราจะร่วมกันสร้างต้องมุ่งเน้นการเมืองนอกสภาเป็นหลักแต่ไม่ปฏิเสธการลงเลือกตั้งเพื่อเสนอนโยบาย การพยายามสร้างฐานมวลชนขยายจำนวนสมาชิกเป็นหน้าที่สำคัญของพรรค เงินทุนที่ใช้จะต้องมาจากสมาชิกพรรคในอัตราก้าวหน้าและผู้สนับสนุนจากชนชั้นเดียวกันเท่านั้น เช่น สหภาพแรงงาน และองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ และนี่คือรูปร่างหน้าตาคราวๆของพรรคที่เราจะต้องร่วมกันสร้าง ดังนั้นรูปร่างหน้าตาที่สมบูรณ์จะต้องเกิดจากสมาชิกพรรคทั้งหมดร่วมกันสร้าง และเมื่อถึงวันนั้นโลกใบใหม่จะเกิดขึ้นจริงได้ใช่เพียงความฝัน

พรรคเราจะรวบรวมการต่อสู้ต่างๆของภาคประชาชนมาผนึกกำลังกัน พรรคเราจะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาวทั้งนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ผู้รักความเป็นธรรม พรรคเราจะเต็มไปด้วยบรรยากาศของประชาธิปไตยที่หาไม่ได้จากพรรคนายทุน พรรคเราจะมีมวลชนร่วมกันเป็นเจ้าของ พรรคเราจะยืนอยู่เคียงข้างผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีดในสังคมทุกรูปแบบ พรรคที่เป็นของเราโดยแท้จริง!!! พรรคแนวร่วมภาคประชาชน !!!

ไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จงสู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
จับมือกันไว้แล้วก้าวเดินต่อไป สู่จุดหมายด้วยใจของเรา

---------------------------------------------

หนังสือและบทความอ้างอิง
ใจ อึ๊งภากรณ์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ.อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง.กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544
สมพร จันทรชัย. บรรณาธิการ, ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2544
ข้อเสนอต่อพี่น้องภาคประชาชนเพื่อสร้างพรรคแนวร่วม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน, 2547

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับสำหรับบทความ