7/11/50

พม่า : ในสถานการณ์ปฏิวัติประชาชน


วัฒนะ วรรณ

พม่า ประเทศเทศที่ถูกปกครองโดยระบบทหารมาตลอด และถือว่าเป็นเผด็จการทหารที่ล้าหลังมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยสนใจประชาชนพม่าเลยแม้แต่น้อย มีการทารุณจับกุม กักขัง ประชาชนและนักกิจกรรมทางด้านสังคม การเมือง อยู่เป็นประจำ จนถึงปัจจุบัน

พม่ามีการเจรจากับอังกฤษเพื่อการประกาศเอกราชในระหว่างปี 1947-48 นำโดยนายพลอองซาน แต่ในระหว่างนั้นนายพลอองซาน ก็ถูกสังหารเมื่อเดือน ก.ค. ปี 1947 โดยพม่าได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกใช้ในปี 1948

การเมืองพม่าหลังจากปี 48 บรรยากาศการเมืองก็ค่อยข้างมีเสรีภาพพอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันบ้างระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆในพม่า แต่เมื่อปี 1962 บรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองของพม่าก็ถูกแช่แข็งโดยการรัฐประหารที่นำโดย นายพลเนวิน เรื่อยมา

เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประชาชนถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในปีช่วงปี 1988 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศยกเลิกเงินจั๊ด ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ประชาชนพม่าใช้ ส่งผลให้ประชาชนที่ถือเงินจั๊ดตอนนั้นไม่สามารถใช้เงินจั๊ดในการใช้จ่ายได้ ทำให้ประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าในตอนนั้น นำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารขนาดใหญ่ ซึ่งนำโดยนักศึกษาและพระสงฆ์ และสหภาพแรงงาน และตอนหลังก็มีข้าราชการ ตำรวจและทหารชั้นผู้น้อยเข้าร่วมด้วย

การต่อสู้ในครั้งนั้นของประชาชนพม่า ประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เพราะมีการปราบปรามโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามพันคน นักเคลื่อนไหวในครั้งนั้นต้องหนีออกนอกประเทศ หรือบางกลุ่มต้องเข้าป่าไปจับอาวุธร่วมกับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน แต่หลังจากการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่รัฐบาลทหารก็ประกาศให้มีการเลือกครั้งในปี 1990 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่คณะทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นับว่าเป็นการปิดประตูสำหรับประชาธิปไตยในพม่า จนมาถึงปัจจุบัน

การต่อสู้รอบใหม่ของประชาชนพม่า

หลังจากปี 88 จนถึงมีการเลือกตั้งปี 90 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งบรรยากาศของเสรีภาพ และประชาธิปไตยในพม่าก็อยู่ในสภาวะมืดมิดแทบจะไม่มีใครคาดการณ์จะเห็นแสงสว่างในระยะอันใกล้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์เล็กๆเกิดขึ้นในประเทศ คือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 49 นักศึกษาของวิทยาลัยเมียนชาน ในภาคกลางพม่าได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเพราะไม่พอใจที่เจ้าหน้าใช้กฎไม่จำเป็นควบคุมเข้มงวดจนเกินไป การชุมนุมในครั้งนั้นส่งผลให้มีนักศึกษาถูกไล่ออกประมาณ 200 คน ทั้งนี้ เหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาในพม่าในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งที่วิทยาลัยด้านคอมพิวเตอร์ฉ่วยปีต่า ในกรุงย่างกุ้ง

อีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือคลิปวีดีโอการแต่งงานของบุตรสาวของนายพลต่าน ฉ่วย ที่ถูกเผยแพร่ในพม่าได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนพม่าเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยประชาชนพม่าได้รับความลำบากมากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี โดยนางธันดาฉ่วย หรือ มะป้อค ได้สมรสกับพันตรีส่อเพียววิน ลูกน้องคนสนิทของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย ที่เมืองหลวงแห่งใหม่และในกรุงย่างกุ้ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงานพิธีวิวาห์ของทั้งสองได้ใช้เม็ดเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และมีแขกผู้มีเกียติของรัฐบาลเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ส่วนทางด้านนางธันดาฉ่วย ได้กล่าวระหว่างพิธีวิวาห์ของตนต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติว่า ได้รับของขวัญจากแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานรวมมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วย บ้าน รถยนต์ และเครื่องประดับชนิดต่างๆ

การต่อสู้รอบใหม่ภายใต้การใช้ศาสนานำการต่อสู้

วันที่ 29 ต.ค. 49 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในพม่า ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น คือ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนพม่า โดยการแต่งชุดขาวจัดภาวนาในทุกศาสนาเพื่อรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางเมืองในประเทศอย่างสันติ เรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และอุทิศส่วนกุศลให้แก่เหยื่อน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งน้ำท่วมในครั้งนั้นรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเลย

การจัดกิจกรรมในครั้งนั้นได้รับการประสานงานโดยกลุ่มอดีตนักศึกษาสมัยปี 88 โดยรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มนักศึกษารุ่นปี 88” การจัดภาวนาครั้งนี้จัดขึ้นในศาสนสถานหลายแห่งทั่วประเทศ โดยมีจุดใหญ่ที่เจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง ซึ่งมีคนเข้าร่วมนับพันคน แต่งกายในชุดขาว พร้อมนำเทียนไขจุดภาวนา

กิจกรรมการภาวนาในครั้งนั้นเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการล่ารายชื่อประชาชนพม่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีมากกว่า 1,100 คน โดยการล่ารายชื่อในครั้งนี้มีผู้ร่วมลงรายชื่อมากถึง 535,580 คน ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองในครั้งนั้น ผู้นำในการจัดงานสองคนได้ถูกจับกุม คือ โก เว โก่(Ko Win Ko) กับ ชู ส่อ ลัต (Phyo Saw Latt) แต่เป็นการจับกุมในข้อหาหวยเถื่อน ซึ่งถูกจำคุก 3 ปี และถูกเพิ่มโทษอีก เป็น 14 ปี จำคุกอยู่ที่เมืองตองอู

การต่อสู้ระลอกใหม่เริ่มต้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศขึ้นราคาน้ำมันรวดเดียว 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ทับถมความยากลำบากของประชาชนพม่าให้เพิ่มขึ้นไปอีก จึงเกิดการเดินขบวนชุมนุมประท้วงขึ้น จากคนไม่กี่ร้อยคน ที่นำโดยอดีตผู้นำนักศึกษา ปี 1988 แต่ตลอดการเดินขบวนมีประชาชนออกมาสนับสนุนปรมมือให้กำลังใจหลายพันคน หลังจากการเดินขบวนก็เริ่มกระจายไปตามเมืองต่างๆ และก็เริ่มมีพระสงฆ์ออกมาประท้วงตามเมืองต่างๆมากขึ้น จนถึงปัจจุบันที่มีประชาชนออกมามากกว่าหนึ่งแสนคนและพระสงฆ์หลายหมื่นรูป ซึ่งเป็นแกนนำ

พระสงฆ์ในพม่ามีประมาณ 6 แสนรูป และส่วนใหญ่เป็นพระรุ่นหนุ่ม และก็ยังมีสามเณรอีกจำนวนหนึ่ง การที่พม่ามีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากน่าจะมาจากระบบการศึกษาในประเทศพม่าทั้งหมดถูกจำกัดไว้สำหรับข้าราชการระดับสูงในพม่าเท่านั้น คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ได้เรียนหนังสือเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การบวชเพื่อจะเรียนหนังสือจึงเป็นหนทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประชาชนพม่า

องค์กรสงฆ์ในพม่าเป็นองค์กรเดียวที่รัฐบาลทหาร เข้าไปแทรกแซงค่อนข้างลำบากเพราะว่าศาสนาพุทธมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากต่อประชาชนพม่า ดูได้จากตัวอย่างแรกๆที่ทหารพม่าไม่กล้าที่จะจับกุมพระสงฆ์ และหลังจากมีกรณีทำร้ายพระสงฆ์ในการเดินประท้วงและเกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ รัฐบาลทหารพม่าก็พยายามแสดงออกว่าให้การเคารพโดยการเดินสายทำบุญในวัดต่างๆหลายแห่ง

หนทางข้างหน้าในการต่อสู้

ขณะนี้หลายฝ่ายต่างวิตกกันว่า รัฐบาลทหารจะใช้กำลังเข้าปราบปรามขบวนการประท้วงมีเช่นในปี 1988 จึงเริ่มมีการกดดันรัฐบาลทหารพม่าผ่านทาง สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา หรือรวมถึงประเทศจีน ให้ช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพื่อให้เกิดการเจรจา และจะไม่นำไปสู่การปราบปราม กลุ่มที่ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลทหาร ก็คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD โดย ในแถลงการณ์ระบุว่า "ความคาดหวังของประชาชนที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงจะดำรงอยู่ได้ หากเราร่วมมือกันสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดเจรจา"

แน่นอนถ้าเกิดมีการเจรจาเกิดขึ้น ทหารก็ยังมีบทบาทอยู่ การเมืองพม่าก็คงไม่เปลี่ยนไปมากนัก เพราะในอดีตที่ผ่านมามีบทเรียนสำคัญหลายครั้งที่ทหารหักหลังประชาชน เช่น ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งที่จัดโดยทหาร แต่ทหารก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และอีกครั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญที่คณะทหารได้มีการแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าไม่สนใจฝ่ายที่เห็นแตกต่างจากทหาร

แล้วทำอย่างไรขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในพม่าจะชนะและมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นี่คงเป็นคำถามสำคัญที่มีอยู่ตอนนี้ การที่พม่าจะมีประชาธิปไตยได้ ต้องกำจัดทหารมิให้มีอำนาจอีกต่อไป นั่นแสดงว่าการต่อสู้รอบนี้เป้าหมายต้องชัดเจนว่าต้องการโค่นล้มรัฐบาลทหาร มิใช่การเจรจา แต่การต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวและดุเดือดเท่านั้นที่ประชาชนในพม่าจะได้รับชัยชนะ แน่นอนเรามิได้ปรารถนาความรุนแรง แต่เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อปกป้องตนเองจากความรุนแรง และการป้องกันมิให้ทหารใช้ความโดยการดึงทหารชั้นผู้น้อยมาเป็นพวก ซึ่งการดึงทหารชั้นผู้น้อยมาเป็นพวกเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1988 ที่มีทหารชั้นผู้น้อยปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บัญชาการที่ให้พวกเขาไปปราบประชาชน และเข้าร่วมกับประชาชน

สุดท้ายเราหวังว่าประชาชนไทยที่รักประชาธิปไตยจะยืนเคียงข้างประชาชนพม่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร เราต้องร่วมกันออกมารณรงค์สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนพม่าในครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น: