8/1/53

โศกนาฏกรรมบนท้องถนน เป็นเรื่องการเมือง


ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ ถึงผู้ที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ให้มีสุขภาพกายและใจ ที่เข้มแข็ง เพื่อยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความเสมอภาคในสังคมกันต่อไป

เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ของไทย สิ่งที่หนึ่งที่จะเป็นข่าวตามมาติดๆ คือการสรุปยอดรวมของอุบัติเหตุ หรือที่เรียกกันตามหน้าสื่อว่า 7 วันอันตราย ซึ่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา 

กระทรวงมหาดไทยได้สรุปตัวเลขว่ามีอุบัติเหตุรวมทั้งหมด 3,534 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 347 คน ผู้บาดเจ็บ 3,827 คน โดยมีเสียงท้วงติงมาจากหลายฝ่ายว่า ตัวเลขที่รวบรวมจากกระทรวงมหาดไทย อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง บางสื่อรายงานว่า อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นี่ละน่า การทำงานในยุคของอำมาตย์ ทำตัวเลขรายงานเพียงเพื่อเอาใจนาย มิใช่เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 จากข้อมูลข้างต้น ที่รายงานมาจากฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ก็ถือว่าเป็นการตายที่สูงมากแล้วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งนับรวมกับผู้บาดเจ็บแล้ว ก็น่าตกใจเป็นกังวลเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงสงกรานต์ปี 51 ว่าถ้าเราจะลดตัวเลขมันต้องพูดกันถึงเรื่องสาเหตุแต่แรกของการเกิดอุบัติเหตุ เพราะที่ฝ่ายรัฐออกมาพูดถึงสาเหตุเกิดจากเมาสุรา และการขับรถเร็วกว่ากำหนดนั้น มันก็มีความจริง และการรณรงค์ให้คนเมาแล้วไม่ขับ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบในสังคม เพราะอุบัติเหตุถ้าเกิดขึ้นแล้วมันกระทบกับคนมากกว่าหนึ่งคนแน่นอน

แต่ถ้าเราจะแก่ปัญหานี้จริง ต้องพยายามมองปัญหาที่ต้นเหตุแต่แรก ไม่ใช่มองเพียงแต่ปลายเหตุอย่างที่ผ่านมา สาเหตุแต่แรกมันเป็นเรื่องการเมืองชนชั้นเป็นสำคัญ เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนจนกับชนชั้นนำ เพราะถ้าเราดูจะพบว่าประเทศไทย มีวันหยุดยาวในรอบ 1 ปี ที่คนธรรมดาจะสามารถเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติพี่น้องในต่างจังหวัด หรือจะเดินทางพาครอบครัวไปเที่ยวได้ ก็ช่วงเทศกาลสงกรานต์กับช่วงปีใหม่ เพียงเท่านั้น ถึงแม้กว่าในกฎหมายแรงงานจะระบุให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปีสามารถลาพักร้อนได้ ไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่สถานประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลายแห่งให้หยุดได้แต่ไม่ให้หยุดติดต่อกัน ดังนั้นประชาชนมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่มีวันหยุดจำกัด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินทางในช่วงวันหยุดสองช่วงนี้เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลในการเดินทาง กลัวไม่มีรถกลับ ต้องเผชิญรถติด หรือประสบอุบัติเหตุ 



การที่คนจำนวนมากออกเดินทางพร้อมกันโดยระบบคมนาคมบนท้องถนน ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะโดยปกติการเดินทางโดยรถยนต์ถือว่าเป็นการเดินทางที่มีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูงเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยระบบราง แต่ในบ้านเราการเดินทางโดยระบบราง ที่เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่มาโดยตลอด รุ่นพ่ออย่างไร รุ่นเราก็เป็นแบบนั้น หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงการเดินทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นผลประโยชน์ในชีวิตของประชาชนหลัก นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มวันหยุดให้มากกว่านี้ เพื่อประชาชนจะได้มีโอกาสเลือกช่วงเวลาในการเดินทางพักผ่อนได้ และลดความหนาแน่น ในการเดินทางด้วย เพราะถ้ารัฐบาลไม่พูดสองเรื่องที่สำคัญนี้ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างเดียวไม่มีทางเพียงพอในการลดจำนวนอุบัติเหตุแน่นอน นั่นหมายความว่ารัฐบาลนั้นๆ ไม่มีความเหมาะสมในการเป็นตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริง เพราะไม่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่รู้ว่าเราจะหวังกับพวกอำมาตย์ได้รึเปล่า ผมคิดว่าหลายคนมีคำตอบอยู่แล้ว...




11/12/52

งานยื่นหนังสือต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีคดีคุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล



ฟ้าบ่กั้นหยังว่าให้ห่างกัน ...ฟ้าก็ไม่ได้กั้น ทำไมเราช่างห่างกันเหลือเกิน*
*หมายเหตุ - คำพูดของลาว คำหอม อ้างถึงในชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน ในวารสารอ่าน ฉบับที่ 3 ต.ค.-ธ.ค. 2551, หน้า 86.

          11 ธ.ค. 52- สมัชชาสังคมก้าวหน้า นักศึกษา และเสรีชนผู้รักประชาธิปไตย ได้ไปร่วมสนับสนุนการยื่นหนังสือของทนายประเวศ ประภานุกูล (ตัวแทนของคุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล)ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หลังจากได้ยื่นไปครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากกรณีที่คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกลงโทษจำคุกถึง 18 ปี โดยไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย ดังเช่น การไม่ให้ประกันตัว การพิจารณาคดีอย่างปิดลับ และอื่นๆ


ภาพโดย วัฒนะ วรรณ


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


8/10/52

สงครามจุดยืน

เมื่อพวกอำมาตย์และเครือข่ายของเขา พยายามเบี่ยงเบนประเด็น ความขัดแย้งในสังคมที่ประชาชนจำนวนมากต้องการประชาธิปไตย และความอยู่ดีกินดีจากนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตย ด้วยการยัดเยียดแนวคิดชาตินิยม ภายใต้ สโลแกน สร้างความสามัคคีของชาติ ผ่านกิจกรรมการร้องเพลงชาติ 76 จังหวัด การออกโฆษณาตรงๆ ผ่านสื่อ หรือโฆษณาแฝง ตามรายงานต่างๆ ถึงขั้นรุนแรงแบบที่พวกพันธมิตรฟาสซิสม์ ทำที่ปราสาทพระวิหาร สิ่งที่พวกอำมาตย์กำลังพยายาม คือ การครองใจในทางความคิด (hegemony) ของคนในสังคมผ่าน แนวคิดชาตินิยม


แนวคิดชาตินิยม เป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ปกครอง มาอย่างยาวนาน เพื่อใช้สำหรับเบี่ยงเบนประเด็นหรือลดกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นของคนจนในสังคม เพราะเวลาประชาชนออกมาสู้นั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมือง หรือไม่ก็เรียกร้องความอยู่ดีกินของปากท้อง ซึ่งข้อเรียกร้องแบบนี้ไปลดทอนอำนาจของพวกชนชั้นนำในสังคมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปัจจุบัน ที่แนวคิดชาตินิยม ที่พูดถึงความสามัคคีของคนในชาติ แลกทะเลาะกันให้คิดประเทศชาติเป็น หรือไม่ก็ไม่ว่าเราจะสีอะไรก็เป็นคนไทยเหมือน หรือหันมาร่วมกันพัฒนาประเทศชาติกันดีกว่า ข้อความต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนกรอบคิดของชาตินิยมทั้งสิ้น โดยเฉพาะแนวคิดชาตินิยมที่ถูกใช้โดยชนชั้นผู้ปกครอง


เราจึงจะเห็นว่าเวลาพวกเขาพูดถึงความสามัคคีในชาติ ก็เท่ากับเป็นการแช่แข็ง สาเหตุของความขัดแย้งแต่แรกของสังคม ไม่ต้องพูดการรัฐประหาร ความยากจน การถูกเลิกจ้าง คนที่จนก็ต้องจนต่อไป ส่วนคนรวยก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อสังคม เสพสุขในความร่ำรวยของตนเองต่อไป มันจึงถูกพิสูจน์ได้ชัดเจน ว่าผู้ที่เสนอแนวคิดเช่นนี้ ล้วนทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอำนาจของตนเองเพียงเท่านั้น


แนวคิดชาตินิยม จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของพวกผู้ปกครองในการ ครองใจ ในทางความคิด ของคนในสังคม นอกเหนือจากเครื่องที่ใช้ปราบปรามประชาชน เช่น กองทัพ คุก ศาล ทหาร ตำรวจ หรือที่เรียกว่าอำนาจรัฐ


อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยม ชาวอิตาลี(1891-1937) จึงได้เสนอว่านอกจากเราต้องทำ สงครามขับเคลื่อน คือการเคลื่อนไหวกดดันด้วยรูปแบบต่างๆ ที่เราพยายามทำกันอยู่แล้ว เรายังจำเป็นต้องทำ สงครามจุดยืนเพื่อต่อสู้การผู้ขาดทางความคิดของพวกอำมาตย์ ซึ่งรูปธรรมคือ เราต้องเน้นแนวคิดสากลนิยม เพื่อคัดค้านแนวชาตินิยม สนับสนุนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย คัดค้านการส่งทหารลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ควรเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินอนาคตตนเอง เราต้องตั้งคำถามแต่แรกว่าพรมแดนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไม่ต้องมีภาษาราชการเพียงภาษาเดียว ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยพูดกันหลายภาษา เรามีรูปแบบครอบครัวอื่นๆ ได้อีกหรือไม่ ที่ไม่ใช่ครอบครัวเดียวแบบปัจจุบัน และเราต้องพยายามพูดคุยกันถึงสังคมใหม่ สังคมในฝันของผู้รักประชาธิปไตย ว่ามีหน้าตาอย่างไรกันบ้าง มีระบบเศรษฐกิจแบบใด ระบบขนส่งมวลชนเป็นอย่างไร ระบบการศึกษาเป็นอย่างไร ระบบการปกครองทั้งระดับประเทศและระท้องถิ่นเป็นอย่างไร ระบบสวัสดิการอื่นๆ เป็นอย่างไร และนำออกมาเสนออย่างเป็นรูปธรรม ต่อคนในสังคม เพื่อแข่งแนวกับพวกอำมาตย์ที่ต้องการแช่แข็ง ความยากจน ความไร้สิทธิเสรีภาพ ของพวกเราไว้


ดู อันโตนิโอ กรัมชี่ ใน หนังสืออะไรนะลัทธิมาร์ค เล่ม 2 สำนักพิมพ์ ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน(องค์กรเลี้ยวซ้าย)

17/9/52

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: สามปีให้หลัง

แถลงการณ์ สมัชชาสังคมก้าวหน้า
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: สามปีให้หลัง

ในวันที่ 19 กันยายน ปีนี้จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการทำการรัฐประหาร ของนายทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกกลุ่มของตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข* การ รัฐประหารในครั้งนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญกันอย่างกว้างขวางจากในหมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง ว่าเป็นการรัฐประหารที่ไร้การนองเลือดและยังเป็นการแก้ปัญหาภาวะตีบตันทาง การเมืองไทยที่เหมาะสมอีกด้วย แต่การรัฐประหารครั้งนี้เป็นเพียงการกำจัด ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียว แต่ต้องนำประเทศมาสู่ห้วงแห่งภัยพิบัติ

ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปรากฎชัดเจนว่า “กองทัพ” เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทที่สำคัญที่สุด ในการโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังจากการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ กองทัพได้กลับมาพยายามเพิ่มอำนาจให้ตนเองอีกครั้ง โดยการเพิ่มงบประมาณของกองทัพในรูปแบบต่างๆ เช่น “งบลับ” ที่อาศัยข้ออ้างถึงความมั่นคงของชาติ แต่กลับถูกนำไปใช้เพื่อกำจัดฝ่ายปริปักษ์การรัฐประหารของตนอย่างไม่ละอาย นอกจากนี้ ยังพบว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคนยังได้รับการปูนบำเหน็จในการรับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นลิ่วล้อของระบอบอำมาตย์ทำหน้าที่ออกกฎหมายเผด็จการ เพื่อสนับสนุนกลุ่มอำนาจพวกพ้องของตนเอง และกำจัดฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปริปักษ์ทางการเมืองของพวกตนอีกทางหนึ่ง

สถาบันตุลาการ ภายใต้คำโก้หรูที่ดูทรงคุณธรรมว่า “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นอีกกลไกหนึ่งของระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งสร้างผลกระทบต่อหลักนิติรัฐและทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยลงไปโดยสิ้นเชิง ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” หาได้มีความยุิติธรรมมั่นคงดุจตราชั่งตราชูที่ติดอยู่หน้าบัลลังค์ไม่ ความบิดเบี้ยวในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญปรากฎให้เห็นตั้งแต่ การใช้อำนาจทางตุลาการที่เข้าไปมีแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร ในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นกระบวนการปูทางไปสู่การรัฐประหาร ปี 49 กระทั่งภายหลังการรัฐประหารปี 49 แล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยังได้มีคำวินิจฉัยอันพิลึกลั่นในการยุบพรรคและตัดสิทธิการเลือกตั้งของพรรคการเมือง โดยใช้กฎหมายที่ออกในภายหลังเพื่อยัดความผิดในภายใต้คำวินิจฉัยอันคลุมเครือ เช่นการใช้รูปคำ ‘เชื่อได้ว่า’ ในการตัดสินความผิดทางกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำวินิจฉัยหรือการดำเนินการต่างๆของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายนิยมประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าอีกต่อไป...ไม่ว่าจะเป็นการปลดอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช จากความผิดที่จัดรายการทำกับข้าว รวมถึงการยุบพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนอย่างลุกลี้ลุกลนจนน่าผิดสังเกต

นอกจากเครือข่ายหลักของฝ่ายอำมาตย์ดังที่กล่าวมาแล้ว พวกเขาได้ซื้อเครือข่ายนักวิชาการชั้นเลว และสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ตลอดจนถึงสมาคมธุรกิจต่างๆอันเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเรียกรวมได้ว่า “เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนโค่นล้มประชาธิปไตย” โดยการปลุกระดมจากกลุ่มขบวนพันธมิตรประชาชนฟัสซิสต์ หรือ “ม็อบมีเส้น” ในการสร้างกระแสอุดมการณ์ชาติราชานิยมขึ้นมา เป็นเครื่องมือสนับสนุนกลุ่มเผด็จการอำมาตย์และทำลายหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยดังที่ทุกท่านได้ประจักษ์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา และโดยการสลับขั้วทางการเมือง ทำให้ฝ่ายอำมาตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้สมใจ รัฐบาลหุ่นเชิดอภิสิทธิ์ได้ใช้ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และพยายามเพิ่มบทลงโทษที่เป็นเผด็จการมากขึ้น รวมทั้งการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนยิ่งกว่าที่เคยปรากฎในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้

สามปีที่ผ่านมา ความพยายามของฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ในการกำจัดคู่แข่งทางการเืมืองของตน ได้ทำลายหลักนิติรัฐ หลักการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และความเท่าเทียมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจนสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเพียงฝ่ายเดียวของฝ่ายอำมาตย์ก็ได้สร้างแรงสะท้อนกลับให้กับสังคมไทยเช่นกัน การรวมตัวกันครั้งแล้วครั้งเล่าของฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมแม้ว่าจะมีกระบวนการการขัดขวางในรูปแบบต่างเช่นการล้มรัฐบาลที่ประชาชนฝ่ายเสียงข้างมากเลือกเข้ามา การใช้การหล่อหลอมให้สังคมไทยรวมเป็นหนึ่งอย่างปลอมๆ เช่นแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติที่ได้มีการเสนออยู่เป็นระยะๆ เป็นสัญญาณบอกชัดแล้วว่า ต่อจากนี้ไปสภาพโครงสร้างทางการเมืองไทยไม่สามารถจะกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว นับวันมีแต่จะถอยหลังไปสู่หายนะ และอาจจะกลายสภาพเป็นรัฐเผด็จการไม่ต่างจากรัฐบาลทหารพม่า

เราในนามของสมัชชาสังคมก้าวหน้า (social move) ขอบอกกล่าวผ่านไปยังพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม รักประชาธิปไตยว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านกาลเวลา ด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย จะไม่ให้ใครหน้าไหน! ออกคำสั่ง ชี้ช่องทางไปสวรรค์ ด้วยคำโก้หรู อันเต็มไปด้วยเลห์กลสามานย์ และนับจากนี้ จงรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันว่า หากมีความพยายามสร้างขบวนการ ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก พี่น้องจะออกมาขัดขว้าง ไม่ยอมก้มหน้ายอมรับชะตากรรม และพี่น้องจงพร้อมใจกัน โค่นเผด็จการสามานย์ให้สิ้นซาก ! สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์เพื่อลูกหลานและสังคมไทย

สมัชชาสังคมก้าวหน้า (social move)
19 กันยายน 2552

"โค่นอำมาตยธิปไตย จุดไฟสรรค์สร้างสังคมใหม่ พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์"

* เตือนความจำ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under the Constitutional Monarchy ภายหลังชื่อภาษาอังกฤษ ได้ตัดคำว่า under the Constitutional Monarchy ออกเพื่อป้องกันชาวต่างชาติเข้าใจผิดว่าการรัฐประหารในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางราชสำนัก ... แต่ภาษาไทยยังคงคำว่า’อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขไว้’ ตามเดิม....

ติดต่อผู้ประสานงาน
ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ 085-1883102, ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ 083-812-5659

10/9/52

เขียนจดหมายรักถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

อิสรภาพก็คือคุก ตราบเท่าที่ยังมีคนอยู่เยี่ยงทาสแม้แต่เพียงคนเดียวในโลก

อัลแบร์ กามู นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส


สมัชชาสังคมก้าวหน้าขอเชิญท่านผู้รักประชาธิปไตยร่วมโครงการ

เขียนจดหมายรักถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย


ที่มาของโครงการ

สมาชิกของสมัชชาสังคมก้าวหน้าได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคุณดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล (ดา ตอร์ปิโด) นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง ที่ถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ เรือนจำคลองเปรม จากนั้นเรามองว่า ควรทำกิจกรรมให้กำลังใจคุณดาต่อไป จึงได้ริเริ่มโครงการ เขียนจดหมายรักถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีคำขวัญของโครงการนี้ว่า เราจะไม่ทอดทิ้งกัน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้


1. มนุษย์ตามระบอบประชาธิปไตยย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ควรถูกรังแกและถูกคุมขังในระหว่างที่ถูกกล่าวหา เพราะถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดจริง


2. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ถูกนำมาใช้ลงโทษผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะผู้รักประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีการทบทวนกฎหมาย ดังนั้นผู้ถูกกุมขังในขณะนี้จึงเป็นเพียงเหยื่อทางการเมืองกรณีคุณดา ตอปิโดได้ถูกพิพากษาจำคุกถึง 18 ปีไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552

สมัชชาสังคมก้าวหน้าจึงขอเป็นหัวขบวนเปิดโครงการ โดยจะเขียนจดหมายส่งคุณดาอย่างน้อยสัปดาห์ละ1 ฉบับอย่างต่อเนื่อง และท่านผู้รักประชาธิปไตยสามารถเขียนจดหมายรักหรือส่งโปสการ์ด ตามเงื่อนไข ดังนี้


1. ห้ามเขียนหรือกล่าวถึงเรื่องการเมืองและห้ามส่งภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูปเนื่องจากเป็นระเบียบของเรือนจำ


2. เขียนด้วยลายมือ เพื่อแสดงมิตรไมตรีระหว่างคนกับคน เพราะคุณดาและผู้ถูกกุมขังอื่นถูกลดฐานะความเป็นมนุษย์ จึงต้องการแสดงออกที่เป็นการคงสถานะความเป็นมนุษย์นี้ไว้


3. ระบุที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ของท่านเพื่อที่เราจะติดต่อกลับไป หากมีจดหมายตอบกลับจากคุณดา


4. สมัชชาสังคมก้าวหน้าขอเปิดจดหมายของท่านก่อนที่จะส่งต่อถึงคุณดา เพื่อถ่ายสำเนาจดหมายของท่านไว้และนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น ในบล็อกประชาไท และให้คุณดาตอบจดหมายท่านผ่านตู้ป.ณ.ของเรา ซึ่งเราก็จะขอเปิดจม.ก่อนนำส่งต่อ เพื่อสำเนาไว้เช่นเดียวกัน


เนื่องจากเราจะรวบรวมสำเนาจดหมายทั้งหมดไปแสดงนิทรรศการงานศิลปะเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ซึ่งจะประชาสัมพันธ์งานนี้อีกครั้งหนึ่ง ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ไชยวัฒน์ 0851883102 โบ 0834430758 หรืออีเมล์ patchanee.k@gmail.com

กรุณาส่งมายัง

ตู้ ปณ. 58 ปณศ. (พ) พระโขนง กรุงเทพฯ 10110 (ไม่ต้องระบุชื่อผู้รับ)