8/1/53

โศกนาฏกรรมบนท้องถนน เป็นเรื่องการเมือง


ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ ถึงผู้ที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ให้มีสุขภาพกายและใจ ที่เข้มแข็ง เพื่อยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความเสมอภาคในสังคมกันต่อไป

เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ของไทย สิ่งที่หนึ่งที่จะเป็นข่าวตามมาติดๆ คือการสรุปยอดรวมของอุบัติเหตุ หรือที่เรียกกันตามหน้าสื่อว่า 7 วันอันตราย ซึ่งในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา 

กระทรวงมหาดไทยได้สรุปตัวเลขว่ามีอุบัติเหตุรวมทั้งหมด 3,534 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 347 คน ผู้บาดเจ็บ 3,827 คน โดยมีเสียงท้วงติงมาจากหลายฝ่ายว่า ตัวเลขที่รวบรวมจากกระทรวงมหาดไทย อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง บางสื่อรายงานว่า อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นี่ละน่า การทำงานในยุคของอำมาตย์ ทำตัวเลขรายงานเพียงเพื่อเอาใจนาย มิใช่เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 จากข้อมูลข้างต้น ที่รายงานมาจากฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ก็ถือว่าเป็นการตายที่สูงมากแล้วในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งนับรวมกับผู้บาดเจ็บแล้ว ก็น่าตกใจเป็นกังวลเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงสงกรานต์ปี 51 ว่าถ้าเราจะลดตัวเลขมันต้องพูดกันถึงเรื่องสาเหตุแต่แรกของการเกิดอุบัติเหตุ เพราะที่ฝ่ายรัฐออกมาพูดถึงสาเหตุเกิดจากเมาสุรา และการขับรถเร็วกว่ากำหนดนั้น มันก็มีความจริง และการรณรงค์ให้คนเมาแล้วไม่ขับ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบในสังคม เพราะอุบัติเหตุถ้าเกิดขึ้นแล้วมันกระทบกับคนมากกว่าหนึ่งคนแน่นอน

แต่ถ้าเราจะแก่ปัญหานี้จริง ต้องพยายามมองปัญหาที่ต้นเหตุแต่แรก ไม่ใช่มองเพียงแต่ปลายเหตุอย่างที่ผ่านมา สาเหตุแต่แรกมันเป็นเรื่องการเมืองชนชั้นเป็นสำคัญ เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนจนกับชนชั้นนำ เพราะถ้าเราดูจะพบว่าประเทศไทย มีวันหยุดยาวในรอบ 1 ปี ที่คนธรรมดาจะสามารถเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติพี่น้องในต่างจังหวัด หรือจะเดินทางพาครอบครัวไปเที่ยวได้ ก็ช่วงเทศกาลสงกรานต์กับช่วงปีใหม่ เพียงเท่านั้น ถึงแม้กว่าในกฎหมายแรงงานจะระบุให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปีสามารถลาพักร้อนได้ ไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่สถานประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลายแห่งให้หยุดได้แต่ไม่ให้หยุดติดต่อกัน ดังนั้นประชาชนมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่มีวันหยุดจำกัด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินทางในช่วงวันหยุดสองช่วงนี้เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลในการเดินทาง กลัวไม่มีรถกลับ ต้องเผชิญรถติด หรือประสบอุบัติเหตุ 



การที่คนจำนวนมากออกเดินทางพร้อมกันโดยระบบคมนาคมบนท้องถนน ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะโดยปกติการเดินทางโดยรถยนต์ถือว่าเป็นการเดินทางที่มีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูงเมื่อเทียบกับการเดินทางโดยระบบราง แต่ในบ้านเราการเดินทางโดยระบบราง ที่เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่มาโดยตลอด รุ่นพ่ออย่างไร รุ่นเราก็เป็นแบบนั้น หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงการเดินทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นผลประโยชน์ในชีวิตของประชาชนหลัก นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มวันหยุดให้มากกว่านี้ เพื่อประชาชนจะได้มีโอกาสเลือกช่วงเวลาในการเดินทางพักผ่อนได้ และลดความหนาแน่น ในการเดินทางด้วย เพราะถ้ารัฐบาลไม่พูดสองเรื่องที่สำคัญนี้ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างเดียวไม่มีทางเพียงพอในการลดจำนวนอุบัติเหตุแน่นอน นั่นหมายความว่ารัฐบาลนั้นๆ ไม่มีความเหมาะสมในการเป็นตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริง เพราะไม่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่รู้ว่าเราจะหวังกับพวกอำมาตย์ได้รึเปล่า ผมคิดว่าหลายคนมีคำตอบอยู่แล้ว...