16/1/51
มือที่มองไม่เห็น...หัวคนจน
สำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่มีสอนอยู่ทั่วไปในมหาวิทยาลัย มีความเชื่ออยู่ว่าทรัพยากรเมื่อถูกแปรรูปเป็นผลผลิตสำหรับให้มนุษย์อย่างเราๆท่านๆ ได้บริโภค จะมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพอยู่ตลอดเวลา หมายความว่า สินค้าทุกประเภทที่ถูกผลิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะถูกใช้ให้หมดไปโดย ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดคุ้มค่ามากที่สุด ฟังดูแล้วก็เหมือนจะดีถ้าเรามองทางด้านการจัดสรรทรัพยากร เพราะระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะไม่ใช้ทรัพยากรแบบทิ้งๆขว้างๆ
แต่ถ้าเรานำปรัชญาเสรียมนี้ไปลองใช้วิเคราะห์การจัดสรรทรัพยากรน้ำมัน ที่ใครหลายคนในตอนนี้ไม่อยากจะได้ยินชื่อนี้ตามสื่อเท่าไร เพราะถ้าคำว่า “น้ำมัน” ออกสื่อก็หมายความว่าราคามันกำลังขยับขึ้น โดยเทียบราคาจากตลาดสิงคโปร์ (อย่าพึ่งไปสนใจมันเลยว่าเกี่ยวอะไรกับสิงคโปร์ รู้แต่เพียงว่าประเทศนี้เคยเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เทคโนแครตไทยหลายคนสนใจ แต่ตอนนี้คงไม่แล้ว อิอิ) การขยับขึ้นลงแบบนี้เรียกว่า “ราคาน้ำมันลอยตัว” หรือการกำหนดราคาโดย “กลไกตลาด”(คือมือที่มองไม่เห็นนั่นแหละ) แน่นอน ทรัพยากรน้ำมันมีอยู่จำกัด(อุปทาน) การที่ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นก็เนื่องจาก มีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก(อุปสงค์) ดังนั้น การเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันเป็นเครื่องเตือนเราให้รู้จักระมัดระวังการใช้น้ำมันกันอย่างประหยัด ดังเช่นพวกเทคโนแครต ในบ้านเมืองเราออกมาพร่ำสอนอยู่ทุกวันในช่วงนี้ ดังนั้นอย่าเที่ยวเอาน้ำมันไปใส่รถแล้วขับเล่น รถแท๊กซี่ที่ขึ้นป้ายบอกชาวบ้านชาวเมืองว่า “ว่าง” ก็ควรจะนอนอยู่บ้าน ไม่ควรออกมาขับรถเล่นกัน..อิอิ (ไม่ขำเหรอ)
สรุปก็คือทรัพยากรน้ำมันมีจำกัด แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันก็ต้องสูงขึ้น(เทียบราคาจากสิงคโปร์..อิอิ) เมื่อราคาสูงขึ้น คนที่ไม่ค่อยมีเงินก็จะใช้น้อยลง ความต้องการโดยรวมก็จะลดลง (เพาะไม่มีใครอยากออกมาขับรถเล่น) การบริโภคน้ำมันก็จะเข้าสู่ดุลยภาพ โอ...บิงโก อะไรจะเยี่ยมขนาดนี้ในการจัดสรรทรัพยากร
นั่นแน่ !! แต่มันยังไม่จบ ฟังเหมือนจะดูดี แต่รูปธรรมไอ้การจัดสรรทรัพยากรแบบนี้ มันโยนความรับผิดชอบในการลดการบริโภคให้กับคนจน คนที่มีรายได้น้อย ก็เพราะเรามีรายได้น้อยจึงไม่มีเงินไปใช้น้ำมันซึ่งมีราคาแพงขึ้น แต่คนรวยเขาไม่กระทบเพราะคนรวยมีรายได้มาก สัดส่วนระหว่างค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันกับรายได้ของเขาต่ำ ลองคิดดูว่าคนที่มีรายได้เดือนละหนึ่งแสนขึ้นไปจะเดือนร้อนมั้ย แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีคนรวยมายมายกว่านี้อีกจำนวนมาก แต่สำหรับคนจนคนที่มีรายได้น้อยการที่ค่าใช้จ่ายในการครองชีพเพิ่มขึ้นมาอีกวันละ 5 บาทก็เดือดร้อนแล้ว เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตสินค้าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การขนส่งมวลชน รถเมล์ เรือเมล์ ที่ใช้เดินทางกันอยู่ทุกวัน ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมันส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างที่เราประสบพบเจออยู่ตอนนี้
ดังนั้นไอ้กลไกตลาดแบบนี้ มันช่วยในการจัดสรรค์ทรัพยากรจริง แต่เป็นการจัดสรรค์การใช้ทรัพยากรที่จำเป็นให้กับคนรวยก่อนเพราะมันไม่ได้ไปลดคุณภาพชีวิตของคนรวย แต่สำหรับคนจนต้องลดการบริโภคลงซึ่งมันเป็นการลดคุณภาพชีวิตด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราพอมีรถส่วนตัวใช้เพราะเรามีบ้านพักอยู่ชานเมือง (บ้านในเมืองมันแพง) การขนส่งมวลชนรัฐก็ไม่ใส่ใจดูแลให้ดี การขับรถเข้ามาทำงานในเมืองจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่เมื่อน้ำมันแพงขึ้นการเดินทางโดยรถส่วนตัวของคนมีรายได้ไม่มากก็เป็นเรื่องสิ้นเปลือง ก็ต้องมานักรถเมล์บ้าง ก็จำเป็นต้องตื่นเช้ามากๆ และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ต้องยืนจนค่ำ แต่ถ้าเราใช้รถเมล์อยู่แล้ว เราไม่มีทางเลือกเราก็จำเป็นต้องไปลดการบริโภคอย่างอื่นแทน เช่นลดการซื้อเสื้อผ้า ลดดูหนัง การพักผ่อนอื่นๆ ก็เลยกลายเป็นมนุษย์เครื่องจักรเข้าไปอีก
การอ้างว่ารัฐจำเป็นต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันขึ้นลงโดยอิสระตามกลไกตลาด จึงเป็นการผลักภาระให้กับคนจนมากว่าคนรวย ยิ่งการโฆษณาให้เราประหยัดน้ำมันเพื่อชาติยิ่งเหลวใหลไปกันใหญ่ แทนที่รัฐจะพยายามสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรในสังคมให้เกิดความเท่าเทียม โดยการเก็บภาษีจากคนรวยในสัดส่วนที่สูงและนำเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายในการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดภาระการครองชีพให้กับคนจน เช่น นำไปให้สวัสดิการการศึกษาและการรักษาพยายาบาลฟรี การเพิ่มเงินเดือนให้กับคนแก่(ปัจจุบันรัฐจ่ายให้กับบางคนเดือนละ 500 บาท) การสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดี การสร้างที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงานราคาถูก
แต่การเก็บภาษีจากรถรวยในอัตราที่สูงพวกนักการเมืองและชนชั้นปกครองอื่นๆคงไม่ยอมเพราะว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรง เราจึงจำเป็นต้องรวมพลังกันในการต่อสู้
ดังนั้นเวลาไอ้พวกรัฐมนตรีหรือเทคโนแครตมันออกมาพูดว่าเราจำเป็นใช้กลไกตลาดหรือปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำมัน เราต้องออกมาบอกพวกมันว่า “ไอ้โกหก เลิกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดได้แล้ว”
ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆในการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ที่สร้างปัญหาให้กับคนจนมาโดยตลอด เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์กับชนชั้นนายทุน พวกนายทุนจึงสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบนี้กันถ้วนหน้า แต่อย่างลืมว่านายทุนเป็นเพียงคนส่วนน้อยของสังคมที่มีเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็น เราจึงไม่ควรปล่อยให้พวกนายทุนควบคุมการจัดสรรค์ทรัพยากรของสังคมอีกต่อไป
รายงาน : ตาม ‘อู๊ด’กลับบ้าน…ถึงเขาจะเป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน แต่เขาสำคัญที่สุดในครอบครัว
จากเรื่องราวที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นกับคนงานไทยที่ต้องออกไปแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในต่างแดนเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญสำหรับสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมและเป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐเพียงเพราะเขาเป็นแรงงานมิใช่นายทุน
ประสิทธิ์ สมอินทร์ หรือ ‘อู๊ด’ เขาคือใคร? และหายไปใหน? ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าของ มยุรี เก่งเกตุ ผู้เป็นพี่สาวของอู๊ดอู๊ด เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว สมอินทร์ จากพี่น้องทั้งหมดสามคน มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ อ.ศรรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู พี่สาวคนโตเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะเทคนิคการแพทย์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ส่วนพี่ชายคนรองทำงานเป็นวิศวกร อยู่ที่นิคมอมตะนครด้วยการที่ไม่ชอบเรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อู๊ด จึงจบการศึกษาเพียง ม.6 จาก กศน. “อู๊ดเป็นน้องคนเล็กของครอบครัว เขามีปัญหาด้านการเรียนมาตั้งแต่มัธยมเลยเรียนน้อยที่สุด จบ ม.6 จาก ก.ศ.น. ด้วยความที่ไม่ชอบค้าขายทั้งๆ ที่บ้านที่ศรีบุญเรืองสามารถค้าขายหรือเปิดร้านค้าอะไรได้ เขาก็ไม่อยากทำ เขาถนัดในแนวช่างเชื่อมมากกว่าและได้ไปเรียนที่ศูนย์ฝึกวิชาชีพมาด้วย เขาเคยทำงานก่อสร้างในเมืองไทยด้วยกับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย แต่เนื่องจากงานค่อนข้างเสี่ยงพ่อแม่เป็นห่วง เลยลาออกไปทำงานโรงงานในนิคมอมตะนครกับพี่ชาย” เรียนน้อย เงินเดือนน้อย ทำงานหนัก คือสภาพชีวิตทั่วไปของคนไทยส่วนใหญ่การตัดสินใจเดินทางเพื่อชีวิตใหม่จึงเริ่มขึ้น “จุดที่ทำให้เขาต้องไปทำงานเมืองนอกก็คือ มีญาติไปทำงานที่ไต้หวันและได้เงินเดือนค่อนข้างจะดี เป็นงานโรงงานเหมือนทำในไทย ความเป็นอยู่ก็ไม่ลำบากมาก เขาเลยอยากลองไปบ้างเผื่อจะได้เก็บเงินซักก้อน อายุก็ยังน้อยครอบครัวก็ไม่มีเลยตัดสินใจได้ง่าย ครั้งแรกที่ไปก็ผ่านเอเย่นเสียเงินไป 140,000 บาท ไปทำแรกๆ ก็ดีเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนอะไรซักอย่าง เงินเดือนดี เพราะมีโอทีเยอะด้วย เขาส่งเงินให้แม่เก็บได้เดือนละ สองหมื่นห้าพันขึ้นไป แต่อยู่ได้ประมาณ 1 ปี โรงงานก็ยุบ เลยถูกส่งไปอยู่ที่อื่นเงินเดือนน้อยมาก ส่งกลับบ้านไม่ถึงหมื่น เขาเลยอยากกลับมาก่อน” อู๊ดกลับมาอยู่บ้านได้ไม่กี่เดือน แต่ภาระกิจที่ตั้งใจใว้แต่แรกยังไม่ประสบความสำเร็จ การเดินทางรอบใหม่เพื่อเก็บเงินเพิ่มจึงเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ถูกคัดค้านจากคนรอบข้าง “พ่อแม่ไม่อยากให้ไป เพราะกลัวถูกหลอกเหมือนกับหลานที่ไปแล้วได้งานไม่ดีอย่างที่บริษัทอ้าง รอบนี้น้องชายต้องจ่ายให้บริษัทนายหน้าตั้ง 150,000 บาท โดยตัวแทนอ้างว่าเป็นงานดี เงินเดือนดี ไม่ได้ทำงานหนัก เขาจะให้ไปขับรถเจาะดิน(ประมาณนี้แหละ) น้องชายก็เลยขอไป ทั้งที่ดิฉันคัดค้านมากแทบจะทะเลาะกัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากให้นายหน้า มันเหมือนการทำนาบนหลังคนชัดๆ”
“ถ้ารัฐบาลส่งจ่ายแค่ 4 หมื่นเอง แต่ต้องสอบแข่งขัน เขาก็รอไม่ไหว สุดท้ายก็เลยตามใจเพราะเงินของเขาเอง เขาหลงเชื่อคำพูดนายหน้าด้วย พอไปทำจริงๆ แรกๆ ก็ได้ลงไปทำในอุโมงค์ใต้ดิน ที่จะเป็นเส้นทางเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วน OT เขาให้เฝ้ายาม โดยคนหนึ่งเฝ้าด้านบน อีกคนลงไปเฝ้าด้านล่าง คิดดูค่ะว่าน่าเป็นห่วงขนาดไหน ดิฉันยังกลัวแทนเขาเลย มีแต่พ่อที่โทรคุยแล้วบอกว่าให้กำดินขึ้นมาแล้วอธิฐานว่าให้แม่พระธรณีปกปักรักษาลูกด้วยเถิด เขาทำอย่างนี้อยู่ประมาณ 4 เดือน ก็ได้ขึ้นมาทำหน้าที่อ๊อกซ์กับเชื่อม ซึ่งเขาก็ชอบมากกว่าการเฝ้ายาม (เขาเคยเล่าว่ามักจะให้คนใหม่เฝ้า) ส่วนเรื่องเงินนั้นที่นายหน้าบอกว่าได้ประมาณสี่หมื่น ก็ไม่ถึงแถมหักค่าต่างๆเป็นหมื่น เหลือไว้ใช้ ห้าพัน ที่เหลือส่งกลับบ้าน ประมาณเดือนละหมื่นกว่าๆ บางเดือนก็หมื่นห้าบางเดือนก็เกือบสองหมื่น และเงินที่หักส่วนหนึ่งก็เป็นค่าล่าม (บริษัทเอเย่นต์ที่นั่น)”แต่เขาหายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 “อู๊ดเดินทางไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศไต้หวัน โดยผ่านพิธีการที่ถูกต้องตามกฏหมาย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 กับบริษัท CTCI ตลอดเวลาที่อยู่ไต้หวัน อู๊ดทำงานก่อสร้างดังกล่าวด้วยดีตลอดมา มีการโทรศัพท์กลับบ้านอย่างสม่ำเสมอ และไม่มีความผิดปกติใดจนวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางบ้านได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนชาวไทยว่าเขาป่วยหนัก มีอาการอ่อนเพลียเหม่อลอย ไม่ยอมพูดจากับใคร ไม่กินข้าวไม่ดื่มน้ำ เพื่อนๆต้องช่วยกันดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำ จนล่ามได้พาไปหาหมอ 2 ครั้ง แต่อาการยังไม่ดีมาก หลังจากทางบ้านได้รับโทรศัพท์ ก็แจ้งให้ล่ามช่วยดำเนินการประสานกับนายจ้างให้เขาลาป่วยกลับมารักษาที่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะกลับได้ประมาณวันที่ 11 ธันวาคม แต่เมื่อเย็นวันที่ 10 ธันวาคม เขาก็ได้หายตัวไป คาดว่าจะเดินออกมาจาก camp ที่พักโดย ลำพัง ซึ่งคนที่พบเขาล่าสุดคือล่าม (camp boss) ชื่อ เทิดพงษ์ เจอเขาลงมาจากชั้น 2 ขณะนั้นล่ามกำลังคุยโทรศัพท์อยู่ ได้ถามเขาว่าจะไปไหน ลงมาเล่นได้ แล้วล่ามก็คุยโทรศัพท์ต่อ จากนั้นประมาณ 15 นาที ไปดูที่ห้องก็ไม่เจอเขาแล้ว จึงไปเรียกคนช่วยกันตามหา 2 คน แต่ไม่เจอ เมื่อเพื่อนๆคนไทยเลิกงานแล้ว ได้ช่วยกันออกตามหาเขาหลายชั่วโมงแต่ยังไม่พบและล่ามได้แจ้งตำรวจแล้ว ขณะนี้ยังไม่พบตัวเขาเลย” เมื่อน้องชายคนเล็กของครอบครัวหายตัวไปในต่างประเทศ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดและกังวลใจมากที่สุดก็คือครอบครัว ครอบครัวที่ไม่เคยคาดคิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น “ดิฉันไปแจ้งที่สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ซึ่งเขาก็รับเรื่องและ Fax ไปให้สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน ซึ่งอยู่ในไทเป และดิฉันก็ได้ขอหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อที่สำนักงานในไทเปไว้ และได้โทรไปติดตามเรื่องหลายครั้งแล้ว การทำงานของเขาก็คือโทรไปสอบถามกับล่าม เมื่อล่ามแจ้งตำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เลยไม่ได้แจ้งอีก และได้ประกาศออกทางวิทยุคนไทยให้แล้ว และต่อมาดิฉันได้ขอสายคุยกับหัวหน้าสำนักงาน เพราะอยากให้ท่านเร่งให้ตำรวจช่วยค้นหามากกว่านี้เพราะเขาหายไปได้ 5 วันแล้ว ได้รับคำตอบคือ ท่านบอกว่าอย่าคิดในแง่ร้าย เขาอาจจะมีปัญหาส่วนตัวก็ได้ เช่นติดการพนันติดเหล้า ติดยาเสพติด หรือติดผู้หญิง จึงหลบหนีไปหา แต่ดิฉันได้ยืนยันท่านว่า ดิฉันถามเพื่อนๆ เขาแล้ว เขารับรองได้ว่าไม่มีเรื่องพวกนี้แน่นอน เขาอาจจะกินเหล้า สูบบุหรี่ แต่เขาไม่ได้กินบ่อย ส่วนเรื่องการพนันนั้นตัดออกไปได้เลย เพราะพวกเขาทำงานแผนกเดียวกัน พักห้องเดียวกัน ส่วนใหญ่จะไปไหนก็ไปด้วยกัน ดิฉันก็เชื่อว่าน้องชายไม่ได้ตั้งใจหลบหนี รู้จักนิสัยเขาดี เขาไม่ใช่คนกล้าขนาดนั้น และเขาก็พอใจในงานที่ทำอยู่ จึงไม่น่าหนี”
“หัวหน้าท่านช่วยได้แค่ ให้ดิฉันไปให้รายละเอียดน้องชายกับผู้จัดรายการวิทยุอีกครั้งเท่านั้นเอง ทั้งๆก่อนหน้านี้ก็บอกว่าออกอากาศให้แล้ว แล้วยังต้องถามอีก เมื่อคุยกับหัวหน้าแล้วทำให้ดิฉันท้อแท้ใจเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเข้าใจว่าพวกเขาจะช่วยเหลือคนงานไทยได้มากกว่านั้น แต่ก็แค่ช่วยติดตามเท่านั้นเอง แม้แต่ข้อมูลต่างๆเขาก็ไม่เคยโทรถามเพื่อนแรงงานไทยเลยไม่เคยลงไปดูที่เกิดเหตุอะไรเลย”
“นอกจากนั้นดิฉันก็ได้โทรไปขอคำปรึกษากับศูนย์คุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน กรมการกงสุล เขาก็โอนสายให้พนักงานที่รับผิดชอบไต้หวัน ดิฉันได้คำตอบว่าถ้าไปยื่นที่แรงงานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมายื่นที่นั่นอีก เพราะสองหน่วยงานประสานกันอยู่แล้ว พอดิฉันขอคำแนะนำเพราะห่วงน้องชายมาก ควรจะทำยังงัยถึงจะมีการค้นหาอย่างจริงจัง เขาก็ตอบว่าคุณควรจะใจเย็นและรอดีกว่า เขาแจ้งตำรวจแล้ว ให้ตำรวจดำเนินการดีที่สุด”
“ดิฉันก็ได้ส่งเรื่องร้องทุกข์ไปทางอินเตอร์เน็ตแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. และได้โทรถามความคืบหน้า ในวันที่ 17 ธ.ค. ได้รับคำตอบว่าส่งไปสำนักงานแรงงานในไต้หวันแล้ว ยังไม่ได้รับการตอบกลับ นอกจากนั้นก็ได้ส่งเมล์ไปเองที่สำนักงานที่ไต้หวันด้วย และวันที่ 17 ธ.ค. ได้พาคุณพ่อคุณแม่ไปติดต่อขอความช่วยเหลือจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้รับการช่วยเหลือ จากท่านรองผู้กำกับ ตำรวจสากลกองการต่างประเทศ แต่ท่านก็บอกว่า ที่ไต้หวันไม่มีสำนักงานตำรวจสากลที่ท่านสามารถประสานงานได้ แต่ท่านก็ได้ทำหนังสือส่งไปให้ ท่านบอกว่าท่านช่วยได้แค่นี้จริงๆ ดิฉันก็ซาบซึ้งในการทำงานช่วยเหลือของท่านที่ทำให้ทันที และไม่ส่งเรื่องต่อให้คนอื่นรับผิดชอบ”ในเมื่อการติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในฐานะคนไทยที่น้องชายหายตัวไปในต่างประเทศ จะมีอยู่คำตอบเดียวคือ “รอ” แต่การรอคอยโดยไม่มีจุดหมายไม่ใช่ทางเลือกครอบครัว การแสวงหาที่พึ่งใหม่จึงเริ่มขึ้น “วันที่ 18 ธันวาคม ดิฉันได้โทรปรึกษาศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ สังกัดมูลนิธิกระจกเงา ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้ส่งรายละเอียดไปให้ โดยดิฉัน ได้ส่งไปทางเมล์ และในวันถัดมาก็ได้รับการติดต่อจากหัวหน้าศูนย์ฯ ในการขอข้อมูลเพิ่มเติม และได้ขอเวลาหาข้อมูลว่าควรจะดำเนินการอะไรได้ต่อไป โดยประสานงานไปตามหน่วยงานหรือมูลนิธิอื่นๆ และหลังจากนั้นก็ได้คำอธิบายว่าจากการสอบถามผู้มีประสบการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบว่า key man ที่สำคัญในเรื่องนี้คือ หัวหน้าศูนย์แรงงานไทยในไทเป เพราะถ้าเขาจริงจังกับกรณีนี้ติดตามให้อย่างใกล้ชิด เราก็จะได้ความคืบหน้าเร็วที่สุด เลยแนะนำให้ โทรไปบอกล่าม ขอใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ เปรียบเสมือนว่าล่ามเป็นตัวแทนญาติ หรือผู้ปกครอง เข้าไปขอความช่วยเหลือตัวแทนภาครัฐของไทย ส่วนทางมูลนิธิจะประสานไปยังเออัครราชทูตฝ่ายแรงงาน ประจำไต้หวัน”
“ดิฉันเคยโทรคุยกับเพื่อนคนไทยของอู๊ดในแคมป์เขาเล่าว่า ล่ามสั่งห้ามคนไทยที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่อู๊ดหายตัวไปพูดเรื่องนี้ และเพื่อนเสียใจมากต่อเหตุการณ์ที่อู๊ดหายเนื่องจากก่อนที่อู๊ดจะหายไปในตอนเย็นวันที่ 10 ธ.ค. อู๊ดได้เดินออกจากแคมป์ไปครั้งหนึ่งแล้วในตอนเช้าแต่เพื่อนๆ ที่จะไปทำงานเห็นพอดีเลยวิ่งไปดึงกลับมา แล้วเพื่อนก็ได้ฝากอู๊ดให้ล่ามและกำชับว่าดูให้ดีๆนะคนป่วยเดินได้ไกลแล้วจะออกจากแคมป์แล้ว ผมฝากดูน้องผมหน่อย และเมื่อเขามาทราบว่าน้องหายไปอีกและช่วยกันหาแล้วไม่เจอเขาเสียใจมากกินเหล้าจนเมา ต่อว่าล่ามรุนแรงจนเกือบจะชกต่อยกัน หลังจากวันนั้นเขาถูกหัวหน้างานเรียกพบ และตักเตือนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก จะถูกส่งกลับไทย”
ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาได้โทรไปคุยกับเพื่อนๆ อู๊ดที่ไทเป แม่จึงขอร้องให้ น้าแก้วพาเพื่อนๆ ออกตามหาให้ด้วย ซึ่งพวกเขาก็เต็มใจออกไปตามหากัน 2 วันที่หยุด ก่อนออกตามหาเขาก็ได้เซ่นไหว้เจ้าที่กันก่อน น้าแก้วชวนเพื่อนคนไทยได้วันแรก สิบกว่าคน วันที่สองที่ไปคือวันที่ 1 ม.ค.51 ไปกันสามสิบคนได้ ไปหาตามภูเขาใกล้ๆ โดยล่ามเอารถกระบะไปส่ง ระหว่างที่ออกหาพวกเขาก็นำป้ายประกาศที่มีรูปอู๊ดติดอยู่ด้วยไปติดตามทางเดินที่เขาผ่านกัน นับว่าเราได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนคนไทยเป็นอย่างดีมาก”
“ครอบครัวได้คุยกันว่าเราจะรอฟังข่าวจากไต้หวัน จนถึงวันหยุดปีใหม่ ถ้ายังไม่ได้ตัวเขาเราจะไปไต้หวันกันเอง โดยดิฉันกับน้อง(อ๊อด) จะไปเองโดยจะศึกษาข้อมูลก่อน เช่น 1.ถ้าไปจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้างเพื่อมาทำหน้าที่ล่ามให้เรา (เรามีค่าจ้างที่จำกัด) 2.จะไปในลักษณะไหน เช่นจะเดินเพื่อแจกใบปลิวรูป และเบอร์โทรติดต่อ หรือเราจะหาทางเพื่อให้ได้ออกตามสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ 3.พวกเราจะไปกันอย่างประหยัด เนื่องจากเราต้องการเก็บเงินไว้ เผื่อว่าทำทุกหนทางยังไม่เจอ เราจะใช้เงินที่เหลือเพื่อจ้างนักสืบ หรือ ลงโฆษณา พร้อมให้รางวัลคนที่แจ้งด้วย”
“คุณพ่อบอกว่าอู๊ดมีเงินที่ส่งมาประมาณ 1 แสนบาท ก็เหลือไว้ซัก /สองหมื่น เพื่อทำบุญ ที่เหลือจะใช้ติดตามเขาได้เลย ดิฉันกับอ๊อดนั้นไม่ต้องการใช้เงินเขา ก็จะออกค่าใช้จ่ายในการไปไต้หวันกันเอง แต่ถ้าจำเป็นเราจะใช้เงินของเขา เพื่อให้เป็นรางวัลคนแจ้ง เพราะเราต้องการคนมามากกว่าต้องการเก็บเงินเขาไว้โดยที่เขาอาจไม่มีโอกาสใช้มัน”
“เงินที่จ่ายไปแม้ไม่คุ้มค่าอะไร แต่เราจะลองทำ มันเป็นการชี้ให้เห็นว่าเรารอความหวังจากใครไม่ได้แล้ว เราต้องลงมือทำเอง และดิฉันเชื่อว่าต้องมีคนสนใจการกระทำของเราอย่างแน่นอน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่เราจะทำเพื่อเขา เราจะทำให้ทุกคนรู้ว่าชีวิตเขาสำคัญ ถึงเขาจะเป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน เขาไม่ใช่บุคคลสำคัญระดับชาติ แต่เขาสำคัญที่สุดในครอบครัว โดยเฉพาะต่อชีวิตต่อจิตใจของพ่อแม่ของเขา และเป็นตัวอย่างให้แรงงานไทยได้เห็นว่า พวกเขาควรจะได้รับการเอาใจใส่เหมือนๆกับคนที่นั่นเหมือนกัน”
000
ข้อมูลเพิ่มเติมชื่อ นายประสิทธิ์ สมอินทร์ (อู๊ด) บัตรประชาชนเลขที่ 3 4113 00170 795หมายเลข passport X622919 ที่อยู่ เลขที่ 169 Chung-kang south road, Tai-san shian,Taipei county, Taiwan R.O.C.ประสิทธิ์เดินทางไปทำงานก่อสร้างที่ประเทศไต้หวัน โดยผ่านพิธีการที่ถูกต้องตามกฏหมาย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 กับบริษัท CTCI
ติดตาม “ตามอู๊ดกลับบ้าน” โดย มยุรี เก่งเกตุ พี่สาวของอู๊ดได้ที่ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=tide&group=1